• อ่านเพิ่มเติม
    วันนี้มาคุยกันต่อถึงสิบสองภาพวาดที่ในละคร <เล่ห์รักตำหนักเหยียนสี่> ฮ่องเต้เฉียนหลงได้ทรงพระราชทานให้บรรดามเหสี เรียกรวมว่า ‘กงซวิ่นถู’ (宫训图 แปลตรงตัวว่า พระราชวัง+คำสอน+ภาพ) พร้อมป้ายอักษรอันเป็นตัวแทนของบทกวี ‘กงซวิ่นซือ’ (宫训诗 แปลตรงตัวว่า พระราชวัง+คำสอน+บทกวี) ภาพเหล่านี้ล้วนเป็นภาพฮองเฮา / มเหสี / พระชายาที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ว่ามีคุณงามความดี สัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันถึงภาพแรกคือภาพ ‘ไท่ซึฮุ่ยจื่อ’ ที่ทรงพระราชทานให้ฮองเฮาเซี่ยวเสียนฉุน (https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/pfbid0Ery63dJM9QctgcUQWchqzEPMugvq12HANhduAUpojWfR2GjQctaJRpxAjBzsD6NWl) แต่พอ Storyฯ จะเขียนถึงภาพถัดไปก็เริ่มเกิดความยาก... ปัญหาคือว่า ละครเรื่องนี้แม้อ้างอิงจากเรื่องจริงแต่ตัวละครและชื่อตำหนักที่ประทับได้ถูกปรับเปลี่ยนไปบ้าง และข้อมูลเกี่ยวกับภาพวาดที่ Storyฯ หาเจอจะอิงตามชื่อตำหนัก Storyฯ เลยคิดว่า ก่อนจะไปกันต่อ เอาภาพมาให้เพื่อนเพจดูกันก่อนว่าพระราชวังต่างๆ ตั้งอยู่ที่ไหนกันบ้าง (ดูรูปประกอบ3) ซึ่งที่บอกว่าฮองเฮากุมอำนาจหกวังหรือ ‘ลิ่วกง’ แห่งวังหลังนั้น ‘หกวัง’ นั้นจริงๆ หมายถึงสิบสองวังหรือตำหนัก แบ่งเป็นหกตำหนักฝั่งตะวันออกและหกตำหนักตะวันตก ตรงกลางของวังหลังคือพระตำหนักเฉียนชิงกง ซึ่งเป็นที่ประทับและทรงงานของฮ่องเต้ (แต่ตั้งแต่รัชสมัยของยงเจิ้งเป็นต้นมา ฮ่องเต้จะเสด็จไปบรรทมที่พระที่นั่งหยั่งซินแทน) ตำหนักไหนอยู่ตรงไหนดูจากภาพประกอบกันได้เลยนะคะ วันนี้คุยกันเรื่องภาพที่สอง คือภาพ ‘ปันจีฉือเหนี่ยน’ (班姬辞辇图 ) แปลได้ว่าประมาณว่า ปันจีผู้งามมารยาท ภาพนี้ในนิยายต้นฉบับของ <เล่ห์รักตำหนักเหยียนสี่> ได้ถูกพระราชทานไปให้เกากุ้ยเฟย (ในนิยายคือฮุ่ยกุ้ยเฟย) ที่พระตำหนักฉู่ซิ่วกง (ในซีรีย์บอกเป็นอีกภาพหนึ่ง) แต่ในเรื่อง <หรูอี้จอมนางเคียงบัลลังก์> เกากุ้ยเฟยประทับที่พระตำหนักเสียนฝูกง ท่ามกลางความสับสนของชื่อภาพและชื่อพระตำหนักนี้ Storyฯ ยึดตามที่มีกล่าวถึงจากข้อมูลที่หาได้ว่า ภาพนี้ถูกแขวนไว้ที่พระตำหนักหย่งโซ่วกง (พระตำหนักของพระนางฮุ่ยเสียนหวงกุ้ยเฟย ผู้ซึ่งว่ากันว่าเป็นต้นแบบของเกากุ้ยเฟยในละคร) ภาพ ‘ปันจีฉือเหนี่ยน’ ที่องค์เฉียนหลงทรงให้จัดวาดขึ้นนั้นหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร Storyฯ ก็หาไม่พบ พบแต่ภาพดั้งเดิมของเรื่อง ‘ปันจีฉือเหนี่ยน’ (ดูรูปประกอบ1) ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของภาพม้วนยาวที่มีชื่อเรียกว่าภาพ ‘หนีว์สื่อเจิน’ (女史箴图 / ข้าราชสำนักหญิงเตือนสติ ดูรูปประกอบ2) อันเป็นผลงานของกู้ข่ายจือ ซึ่งเดิมมี 12 ตอนแต่สูญหายไปแล้ว ปัจจุบันเหลือเพียงฉบับคัดลอก 9 ตอนสองชุด ชุดหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วังต้องห้าม เป็นภาพที่จัดทำขึ้นสมัยซ่ง และอีกชุดหนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) เป็นภาพที่จัดทำในสมัยถัง ภาพทั้งสองมีความยาวเกือบ 3.5 เมตร เป็นภาพที่ถูกยกย่องว่านำเสนอวิถีชีวิตเหล่านางในตำแหน่งต่างๆ ออกมาได้ดี ไม่ว่าจะการวางตัวหรือสีหน้าสีตา ทั้งนี้ ภาพเต็ม ‘หนีว์สื่อเจิน’ เป็นภาพที่วาดขึ้นในสมัยราชวงศ์จิ้น โดยมีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าในรัชสมัยฮั่นเฉิงตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ปี 52-7 ก่อนคริสตกาล) กล่าวถึงเมื่อครั้งฮั่นเฉิงตี้เสด็จประพาสทอดพระเนตรสัตว์สู้กัน โดยมีนางในและพระโอรสตามเสด็จ ‘ปันจี’ คือใคร? นางคือพระนางปันเจี๋ยอวี๋ (หมายเหตุ ตำแหน่งเจี๋ยอวี๋นี้ บางคนเคยแปลว่าอัครเทวี บางคนแปลว่าราชเทวี Storyฯ ก็ไม่สันทัดว่าควรเรียกว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง) ชื่อเดิมว่า ‘ปันเถียน’ เริ่มเข้าวังทำหน้าที่เป็นข้าราชสำนักหญิงหรือที่เรียกว่าตำแหน่ง ‘หนีว์สื่อ’ มีหน้าที่ถวายงานด้านอักษรให้แก่ฮองเฮา รวมถึงงานบันทึกผลงานและความผิดของสตรีฝ่ายในและงานด้านพิธีการฝ่ายใน ต่อมาได้เป็นสนมรับใช้ฮั่นเฉิงตี้และสุดท้ายได้รับตำแหน่งเจี๋ยอวี๋ นางถูกจารึกไว้ว่าเป็นกวีและนักอักษรศาสตร์ที่เลื่องชื่อ มีผลงานตกทอดมาจนปัจจุบันหลายชิ้น ภาพ ‘ปันจีฉือเหนี่ยน’ นี้เป็นตอนที่สองของภาพ ‘หนีว์สื่อเจิน’ เป็นเรื่องราวสมัยที่พระนางยังเป็นที่โปรดปรานของฮั่นเฉิงตี้ ใจความคือองค์ฮั่นเฉิงตี้ทรงโปรดให้ใช้พระราชรถม้าขนาดใหญ่มากในการประพาสครั้งนี้เพื่อจะได้ให้พระนางปันโดยเสด็จด้วยบนรถ แต่พระนางทรงปฏิเสธ โดยอธิบายว่าแต่ไหนแต่ไรมา คนอื่นๆ ต้องเดินตามเสด็จอยู่ด้านข้างขบวน และในประวัติศาสตร์แม้มีกษัตริย์บางพระองค์ที่ให้พระภรรยาหรือสนมประทับร่วมบนพระราชรถ แต่กษัตริย์เหล่านั้นสุดท้ายล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ทำให้ราชวงศ์ล่มสลาย พระนางทรงไม่ต้องการให้ผู้ใดไปเล่ากันต่อในทางที่ไม่ดีว่าองค์ฮั่นเฉิงตี้มัวเมาในสตรีจนอาจเป็นเหตุให้บ้านเมืองต้องอับจนในอนาคต เหตุการณ์นี้ทำให้พระนางถูกยกย่องว่าเป็นคนที่สงบเสงี่ยมแม้จะได้รับความโปรดปรานจากองค์ฮ่องเต้ วางพระองค์ได้ดี รู้ขนบทำเนียมหน้าที่และรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ภาพนี้ถูกชื่นชมว่าสามารถบรรยายความรู้สึกหลากหลายออกมาได้ดี ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอพระทัยแต่จำยอมขององค์ฮั่นเฉิงตี้หรือการเบือนพักตร์ลอบไม่พอพระทัยของฮองเฮา โดยฉพาะภาพลักษณ์ของปันเจี๋ยอวี๋ในภาพนี้ ดูสูงส่งเรียบร้อย สมกับที่พระนางถูกยกย่องให้เป็นแบบอย่างแห่งสตรีผู้มีจริยวัตรงดงาม ส่วนป้ายอักษรที่องค์เฉียนหลงทรงพระราชทานคู่กับป้ายนี้คือ ‘ลิ่งอี๋ซูเต๋อ’ (令仪淑德) แปลได้ประมาณว่า เคารพพิธีการและวางตนให้ดีมีจริยวัตรงดงาม ในเรื่อง <เล่ห์รักตำหนักเหยียนสี่> นี้ เกากุ้ยเฟยตีความจากภาพนี้ว่า เฉียนหลงฮ่องเต้ทรงตำหนิที่นางวางองค์ไม่ดีจึงทรงพระราชทานภาพนี้มาเตือนสติ แต่เจียผินปลอบพระนางว่า จริงๆ แล้วภาพทั้งสิบสองสะท้อนถึงคุณสมบัติที่เฉียนหลงฮ่องเต้ทรงคาดหวังจากเหล่ามเหสีและสนมทั้งหมด เพื่อนเพจคิดว่าไงคะ? (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจาก: https://www.sohu.com/a/242329927_100034915 https://zhuanlan.zhihu.com/p/44523682 https://baike.baidu.com/tashuo/browse/content?id=5c29a1b9368965f14d877c95 http://www.obj.cc/thread-69013-1-1.html Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: http://www.takungpao.com/culture/237140/2019/1207/387125.html https://baike.baidu.com/item/女史箴图 https://baike.baidu.com/item/班姬辞辇/360901 #เล่ห์รักตำหนักเหยียนสี่ #เกากุ้ยเฟย #ปันจีฉือเหนี่ยน #ปันเจวี๋ยอี๋ #กงซวิ่นถู #หกตำหนักวังหลัง #เฉียนหลงสิบสองภาพวาด
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 157 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    คุยกันเรื่องวังหลังของเฉียนหลงฮ่องเต้มาหลายสัปดาห์ วันนี้ยังคุยกันเรื่องนี้ แต่เปลี่ยนเป็นละครเรื่อง <เล่ห์รักตำหนักเหยียนสี่> เป็นเรื่องที่เพื่อนเพจท่านหนึ่งถามถึงเกี่ยวกับเรื่องราวของภาพวาดที่พูดถึงในละคร ท่านใดที่ได้เคยดูละครหรืออ่านนิยายเรื่องนี้จะทราบว่า เฉียนหลงฮ่องเต้ทรงพระราชทานรูปภาพทั้งหมดสิบสองภาพให้แก่เหล่าพระมเหสี โดยในเรื่องมีการเล่าถึงความหมายของบางรูปภาพและมีการตีความกันไปต่างๆ นาๆ ว่าองค์เฉียนหลงทรงหมายถึงอะไร ในเรื่องนั้นองค์เฉียนหลงทรงต้องการให้พวกนางไปใช้เวลาไปตีความหมายกันเองจะได้ไม่มีเรื่องราวมากวนพระทัย แต่แน่นอนว่าภาพวาดเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราวของมัน คงต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าเราจะคุยจบทั้ง 12 ภาพวาด อย่าเพิ่งเบื่อกันนะ ภาพทั้งสิบสองภาพนี้ถูกเรียกรวมว่า ‘กงซวิ่นถู’ (宫训图 แปลตรงตัวว่า พระราชวัง+คำสอน+ภาพ) ได้รับการวาดขึ้นคู่กับบทกวีสิบสองบทที่เรียกว่า ‘กงซวิ่นซือ’ (宫训诗 แปลตรงตัวว่า พระราชวัง+คำสอน+บทกวี) ที่ทรงให้เหล่าขุนนางเป็นผู้แต่งและจัดทำเป็นป้ายสี่อักษรที่สื่อถึงบทกวีเต็ม และได้ทรงกำหนดไว้ว่า ในทุกวันที่ 26 เดือน 12 ตามปฏิทินจีน (คือห้าวันก่อนตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาจัดเตรียมการฉลองวันตรุษ) ทั้งสิบสองตำหนักต้องเอาภาพและป้ายอักษรดังกล่าวออกมาแขวน โดยภาพวาดให้แขวนไว้บนผนังทิศตะวันตก ส่วนป้ายอักษรให้แขวนไว้บนผนังทิศตะวันออก รอจนวันที่ 2 เดือน 2 จึงจะปลดลงได้ ภาพแรกที่จะคุยกันวันนี้เป็นภาพที่องค์เฉียนหลงพระราชทานให้ฮองเฮา เซี่ยวเสียนฉุนหวงโฮ่วแห่งพระตำหนักฉางชุนกง มีชื่อว่าภาพวาด ‘ไท่ซึฮุ่ยจื่อ’ (太姒诲子/ไท่ซึสอนบุตร) ‘ไท่ซึ’ คือใคร? ไท่ซึเป็นชายาเอกในองค์โจวเหวินหวาง อ๋องผู้ปกครองแคว้นโจวในสมัยปลายราชวงศ์ซางระหว่างปี 1110-1050 ก่อนคริสตกาลและเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว (หมายเหตุ คือองค์โจวเหวินหวางผู้ทรงกำหนดเพิ่มสายพิณเส้นที่หกที่มีชื่อว่า เซ่ากง บนพิณโบราณกู่ฉินเพื่อเป็นการระลึกถึงโอรสที่วายชนม์ ซึ่ง Storyฯ เคยเล่าถึงตอนคุยเรื่องชื่อของสายพิณจากละครเรื่อง <ดาราจักรรักลำนำใจ> https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/569581261836837 ) จากบันทึกโบราณและบทกวีต่างๆ ที่กล่าวถึง ว่ากันว่า ไท่ซึมีรูปโฉมและจริยวัตรงดงามและมีเมตตา เป็นผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็นคู่ครองที่เหมาะสมกับโจวเหวินหวางและเป็นมารดาที่ดีแห่งแคว้น (ขออภัยไม่ใช้ราชาศัพท์) นางมีบุตรชายสิบคนให้กับโจวเหวินหวาง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานว่านางสั่งสอนบุตรอย่างเข้มงวดจนเป็นคนดีมีความกตัญญูทุกคน มีเรื่องราวต่อมาอีกว่า โอรสคนโตของนางและโจวเหวินหวาง นามว่า ป๋ออี้เข่า นั้น ในตำนานว่ากันว่าเป็นบุรุษรูปงาม เชี่ยวชาญด้านพิณ และขึ้นชื่อว่าเป็นบุตรที่กตัญญูมาก ในสมัยนั้นโจ้วหวางผู้เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซางเพ่งเล็งและระแวงในแคว้นโจว และเพื่อเป็นการปกป้องโจวเหวินหวางและแคว้น ป๋ออี้เข่ายอมจากบ้านเกิดมาเป็นตัวประกันที่ราชสำนักซาง โจ้วหวางมีมเหสีที่รักมากชื่อว่าต๋าจี่ ผู้มีความงามอย่างที่หาใครเปรียบได้ยาก ตามตำนานเล่าว่า ต๋าจี่หลงรักป๋ออี้เข่าตั้งแต่แรกพบ เลยใช้ข้ออ้างขอเรียนพิณเพื่อเข้าใกล้ป๋ออี้เข่า แต่เขาไม่มีใจให้นาง นางโกรธแค้นเขามาก จึงสร้างเรื่องว่าถูกเขาลวนลาม ทำให้โจ้วหวางโกรธจนสังหารป๋ออี้เข่าทิ้ง ไม่แน่ใจว่าเพื่อนเพจเริ่มคุ้นหูคุ้นตากันบ้างไหมกับชื่อ ‘ต๋าจี่’ นี้ แต่นี่คือเรื่องเล่าในตำนานสงครามเทพ <เฟิงเสิน> และต๋าจี่คือนางงามที่เป็นปีศาจจิ้งจอกจำแลงนั่นเอง โจ้วหวางถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นทรราชเพราะมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมอำมหิตมากมาย ต๋าจี่กลายเป็นตำนานนางจิ้งจอก เป็นตัวแทนของหญิงงามล่มเมือง และเรื่องราวของป๋ออี้เข่าเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดต่อครอบครัวของโจวเหวินหวางและไท่ซึ และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โจวเหวินหวางลุกขึ้นเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์ซางและสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว ต่อมาบุตรชายคนรองคือโจวอู่หวางก็โค่นล้มราชวงศ์ซางได้สำเร็จ (และในเรื่องชื่อของสายพิณที่ Storyฯ เคยเล่าถึงไปแล้วนั้น โจวอู่หวางคือผู้ที่เสริมสายพิณเส้นที่เจ็ดเข้าไปในพิณโบราณกู่ฉินและตั้งชื่อสายพิณเส้นนั้นว่า เซ่าซาง เพื่อเป็นการรำลึกถึงการล้มราชวงศ์ซางได้สำเร็จ) ดูจะเชื่อมโยงตัวละครจากหลากหลายบทความที่ Storyฯ เคยเขียนถึง ลองย้อนกลับไปอ่านบทความเก่าๆ กันนะคะ จะได้ไม่งง สรุปว่า ภาพวาด ‘ไท่ซึฮุ่ยจื่อ’ นี้แฝงไว้ซึ่งเรื่องราวความกตัญญูและโศกนาฏกรรมของป๋ออี้เข่า อารมณ์แฝงอาจสอดคล้องกับอารมณ์ที่โศกเศร้าของฮองเฮาเซี่ยวเสียนฉุนที่ต้องสูญเสียพระโอรสไปก่อนเวลาอันควร แต่ยังสะท้อนถึงจริยวัตรของการเป็นมารดาที่สั่งสอนบุตรอย่างดีอีกด้วย ส่วนป้ายอักษรที่มาคู่กับภาพนี้คือ ‘จิ้งซิวเน่ยเจ๋อ’ (敬休内则) มีความหมายประมาณว่า วางตนอย่างสงบและบริหารงานภายในครอบครัวให้เรียบร้อย จึงเป็นที่มาของการตีความโดยตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ว่า ความหมายของรูปภาพนี้คืออยากให้ฮองเฮาเซี่ยวเสียนฉุนเลิกโศกเศร้าแล้วลุกขึ้นมาดูแลวังหลังในฐานะมารดาแห่งแผ่นดิน การตีความแบบนี้ถูกหรือไม่ Storyฯ ก็ไม่แน่ใจ แต่เห็นว่าเรื่องราวจากภาพนี้ก็อ่านเพลินดี เพื่อนเพจเห็นด้วยไหม สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อกับภาพต่อไปค่ะ หมายเหตุ อัพเดทเพิ่มเติมวันที่ 22/8/2566 นะคะว่า ภาพวาดที่ Storyฯ แปะมาให้ดูนี้ เป็นผลงานในสมัยองค์คังซีของช่างวาดหลวงเจียวปิ่งเจินเกี่ยวกับไท่ซึค่ะ ภาพจริงของ ‘ไท่ซึฮุ่ยจื่อ’ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 กงซวิ่นถูนั้นสูญหายไปแล้ว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบได้ (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจาก: https://autos.yahoo.com.tw/被催生氣炸-富察皇后吐單身心聲-094507428.html https://zh.m.wikipedia.org/zh-my/太姒 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: http://www.takungpao.com/culture/237140/2019/1207/387125.html http://lethe921.blogspot.com/2013/05/blog-post.html http://www.chinakongzi.org/baike/RENWU/xianqin/201707/t20170720_139258.htm https://zh.m.wikipedia.org/zh-my/妲己 https://zh.m.wikipedia.org/zh-my/伯邑考 https://zh.m.wikipedia.org/zh-my/太姒 #เล่ห์รักตำหนักเหยียนสี่ #ภาพวาดเฉียนหลง #ไท่ซึฮุ่ยจื่อ #ไท่ซึ #โจวเหวินหวาง #โจวอู่หวาง #โจ้วหวาง #ต๋าจี่ #นางจิ้งจอก #เฟิงเสิน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 387 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    ช่วงนี้กระแสหนังภารตะเรื่องหนึ่งแรงมาก เป็นเรื่องราวอิงชีวประวัติของโสเภณีหญิงที่กลายมาเป็นแม่เล้าผู้ทรงอิทธิพลในอินเดีย เห็นว่าฟ้องร้องกันอยู่ว่าเรื่องราวบิดเบือนเพราะเธอไม่ได้เป็นโสเภณีจริง ความจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ Storyฯ นึกถึงภาพยนตร์จีนโบราณที่เคยผ่านตาเมื่อนานมาแล้วเรื่องหนึ่งชื่อว่า <หลิ่วหรูซื่อ> (Threads of Time) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวประวัติของนางคณิกานามว่า ‘หลิ่วหรูซื่อ’ นางถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นกวีหญิงที่โดดเด่นในสมัยปลายราชวงศ์หมิง และเป็นสตรีที่รักชาติและต่อต้านการรุกรานจากชาวแมนจูในช่วงผลัดแผ่นดิน ไม่แน่ใจว่าเพื่อนเพจคุ้นเคยกับเรื่องของนางกันบ้างหรือไม่? วันนี้เลยมาคุยให้ฟังอย่างย่อ หลิ่วหรูซื่อ (ค.ศ. 1618-1664) ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสุดยอดแปดนางคณิกาจากแม่น้ำฉินหวย (ฉินหวยปาเยี่ยน / 秦淮八艳) อะไรคือ ‘ฉินหวยปาเยี่ยน’ ? ในสมัยปลายราชวงศ์หมิงนั้น สถานสอบราชบันฑิตที่ใหญ่ที่สุดคือเจียงหนานก้งเยวี่ยน (江南贡院) ตั้งอยู่ที่เมืองเจียงหนานริมฝั่งแม่น้ำฉินหวย ในแต่ละปีจะมีบัณฑิตและข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการสอบมาที่นี่ถึงสองสามหมื่นคน จากเมืองเจียงหนานข้ามแม่น้ำฉินหวยมาก็เป็นเมืองหนานจิง (นานกิง) ซึ่งนับว่าเป็นเมืองทางผ่านสำหรับเขาเหล่านี้ ที่นี่จึงกลายเป็นทำเลทองของกิจการหอนางโลม เพื่อนเพจอย่าได้คิดว่านางคณิกาเหล่านี้เน้นขายบริการทางเพศแต่อย่างเดียว ในยุคนั้นรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากการขายความบันเทิงทางศิลปะเคล้าสุรา เช่น เล่นดนตรี / เล่นหมากล้อม / โชว์เต้นรำ / แต่งกลอนวาดภาพ หรืออาจทำทั้งหมด มีนางคณิกาจำนวนไม่น้อยที่ขายศิลปะไม่ขายตัวและคนที่ชื่อดังจะต้องมีฝีมือดีเยี่ยม ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่มีการศึกษา ‘ฉินหวยปาเยี่ยน’ ทั้งแปดคนนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘ที่สุด’ ของนางคณิกาในย่านเมืองหนานจิงนี้นี่เอง หลิ่วหรูซื่อมีนามเดิมว่า ‘หยางอ้าย’ ต่อมาเปลี่ยนชื่อตนเองใหม่เป็น ‘อิ่ง’ และมีนามรองว่า ‘หรูซื่อ’ ตามบทกวีจากสมัยซ่ง บ่อยครั้งที่นางแต่งตัวเป็นชายออกไปโต้กลอนกับคนอื่นโดยใช้นามว่า ‘เหอตงจวิน’ นางโด่งดังที่สุดด้านงานอักษรและงานพู่กันจีน (บทกวี คัดพู่กัน และภาพวาด) ผลงานของนางมีมากมายทั้งในนาม ‘หลิ่วหรูซื่อ’ และ ‘เหอตงจวิน’ มีการรวมเล่มผลงานของนางออกจำหน่ายในหลายยุคสมัยจวบจนปัจจุบัน นางเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ถูกขายให้กับหอนางโลมเมื่ออายุแปดขวบ แต่แม่เล้ารับเป็นลูกบุญธรรมและได้ฝึกเรียนศิลปะแขนงต่างๆ ในชีวิตนางมีชายสามคนที่มีบทบาทมาก คนแรกคืออดีตเสนาบดีอดีตจอหงวน ที่รับนางเป็นอนุเมื่ออายุเพียง 14 ปี เขาโปรดปรานนางที่สุด ใช้เวลาทั้งวันกับการสอนศิลปะขั้นสูงเหล่านี้ให้กับนาง เมื่อเขาตายลงนางถูกขับออกจากเรือนจึงกลับไปอยู่หอนางโลมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มีวิชาความรู้ติดตัวจนเป็นที่เลื่องลือ ทำให้นางใช้ชีวิตอยู่กับการคบหาสมาคมกับเหล่าบัณฑิตจนได้มาพบรักกับเฉินจื่อหลง เขาเป็นบัณฑิตที่ต่อมารับราชการไปได้ไกล ทั้งสองอยู่ด้วยกันนานหลายปี แต่สุดท้ายไปไม่รอดแยกย้ายกันไปและนางออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่นางมีผลงานด้านโคลงกลอนและภาพวาดมากมาย ต่อมาในวัย 23 ปี นางได้พบและแต่งงานกับอดีตขุนนางอายุกว่า 50 ปีนามว่าเฉียนเชียนอี้เป็นภรรยารอง (แต่ภรรยาคนแรกเสียไปแล้ว) และอยู่ด้วยกันนานกว่า 20 ปี มีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน ช่วงเวลาที่อยู่กับเฉียนเชียนอี้นี้ เป็นช่วงเวลาที่นางได้รับการยกย่องเรื่องรักชาติ และนางเป็นผู้ผลักดันให้เฉียนเชียนอี้ทำงานต่อต้านแมนจูอย่างลับๆ เพื่อกอบกู้ราชวงศ์หมิง แม้ว่าฉากหน้าจะสวามิภักดิ์รับราชการกับทางการแมนจูไปแล้ว (เรื่องราวของเฉียนเชียนอี้ที่กลับไปกลับมากับการสนับสนุนฝ่ายใดเป็นเรื่องที่ยาว Storyฯ ขอไม่ลงในรายละเอียด) ต่อมาเฉียนเชียนอี้ลาออกไปใช้ชีวิตบั้นปลายในชนบทโดยนางติดตามไปด้วย เมื่อเขาตายลงมีการแย่งทรัพย์สมบัติ นางจึงฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องให้ทางการเอาผิดคนโกงและคืนทรัพย์สินกลับมาให้ลูก หลิ่วหรูซื่อไม่เพียงฝากผลงานเอาไว้ให้ชนรุ่นหลังมากมาย หากแต่ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและรักชาติของหลิ่วหรูซื่อถูกสะท้อนออกมาในบทประพันธ์ต่างๆ ของนางด้วยอารมณ์ประมาณว่า “ถ้าฉันเป็นชาย ฉันจะไปสู้เพื่อชาติ” แต่เมื่อเป็นหญิง นางจึงพยายามสนับสนุนกองกำลังกู้ชาติทางการเงินและผลักดันให้สามีของนางสนับสนุนด้วย และนี่คือสาเหตุว่าทำไมเรื่องราวของนางคณิกาธรรมดาคนนี้ยังไม่ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ ช่วยกดไลค์กดแชร์กันด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพและข้อมูลเรียบเรียงจาก: https://kknews.cc/history/b2nbjyo.html https://www.chinanews.com.cn/cul/news/2008/03-10/1186637.shtml https://new.qq.com/omn/20191102/20191102A03LG800.html https://kknews.cc/history/b2nbjyo.html http://www.360doc.com/content/20/0325/10/60244337_901533310.shtml https://kknews.cc/history/ogan4p.html https://baike.baidu.com/item/%E7%A7%A6%E6%B7%AE%E5%85%AB%E8%89%B3/384726 #หลิ่วหรูซือ #เหอตงจวิน #นางคณิกาจีนโบราณ #ฉินหวยปาเยี่ยน #เฉียนเชียนอี้ #เฉินจื่อหลง #กอบกู้หมิง
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 468 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    ช่วงนี้มีกระแสเรื่องหนังสือเรียนเด็กชั้นประถมบ้านเรา ทำให้ Storyฯ เกิด ‘เอ๊ะ’ ว่าแล้วในสมัยจีนโบราณ เด็กๆ เรียนอะไร ผ่านตาในซีรีส์ก็จะเห็นเด็กท่องกันไปยาวๆ อย่างเช่นใน <สามชาติสามภพ ป่าท้อสิบลี้> ตอนที่พระเอกลงไปผ่านด่านเคราะห์ในโลกมนุษย์ วันนี้เลยมาคุยกันคร่าวๆ เรื่องการศึกษาของเด็กในสมัยจีนโบราณ ซึ่งโดยรวมเรียกว่า ‘เหมิงเสวี๋ย’ (蒙学) หมายถึงการเรียนเพื่อปูพื้นฐานหรือก็คือการเรียนของเด็ก เริ่มกันจากที่ว่า เขาเริ่มเข้าเรียนกันตอนอายุเท่าไหร่? เรื่องอายุการเริ่มเรียนมีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยพร้อมๆ กับการจัดระเบียบด้านการศึกษา เดิมเด็กๆ เริ่มเรียนกันได้ตั้งแต่สี่ขวบ เข้าเรียนได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วงและฤดูหนาว (ต่อมาในสมัยราชวงศ์เหนือใต้จึงเปลี่ยนมาเป็นเปิดเทอมตอนฤดูหนาวเป็นหลัก) ต่อมาในสมัยถังเริ่มเรียนกันที่ 6-7 ขวบ ต่อมาสมัยหมิงและชิงมีจัดตั้งโรงเรียนให้ประชาชนได้เรียนกันอย่างแพร่หลายโดยมีช่วงอายุ 8-15 ปี แล้วเขาเรียนอะไร? ตั้งแต่สมัยโบราณมีการแบ่งแยกการสอนเด็กเล็กและเด็กโตโดยจัดเนื้อหาแตกต่างกัน มีตัวอย่างให้เห็นจากการเรียนของราชนิกุลสมัยราชวงศ์เซี่ย ซังและโจว แม้แต่ในบทสอนของขงจื๊อก็มีการแยกระหว่างเด็กเล็กเด็กโต สำหรับเด็กเล็กเน้นให้อ่านออกเขียนได้ โตขึ้นอีกหน่อยก็เริ่มเรียนพวกบทกวีและบทความและปูพื้นฐานสำหรับเรียน ‘สี่หนังสือ’ (ซื่อซู/四书) ว่าด้วยปรัชญาต่างๆ ของขงจื้อเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย แต่อย่าลืมว่าการเรียนหนังสือแต่เดิมเป็นเอกสิทธิ์ของราชนิกูลและลูกหลานตระกูลผู้ดีหรือลูกหลานข้าราชการ ต่อมาจึงมีการเปิดโรงเรียนทั้งของรัฐบาลและเอกชน และมีการพัฒนาเอกสารการเรียนการสอนมากขึ้น นับแต่สมัยซ่งมา หนังสือสำหรับเด็กเล็กที่สำคัญและใช้เป็นหลัก เดิมมีอยู่สามเล่ม เรียกรวมว่า ‘สามร้อยพัน’ (ซานป่ายเชียน/三百千) ต่อมาเพิ่มมาอีก ‘พัน’ เป็น ‘สามร้อยพันพัน’ (ซานป่ายเชียนเชียน/三百千千) สรุปได้ดังนี้ - ‘สาม’ หมายถึง ‘คัมภีร์สามอักษร’ (ซานจื้อจิง /三字经) เป็นตำราที่มีขึ้นในสมัยซ่งใต้ มีทั้งหมด 1,722 อักษร (โอ้โห... สงสารเด็กเลย!) เนื้อหารวมความรู้พื้นฐานเช่น ประวัติศาสตร์สำคัญ ความรู้ทั่วไป (เช่นทิศ เวลา ฤดูกาล) และหลักคุณธรรม ลักษณะการเขียนแบ่งเป็นวรรคละสามอักษร ประโยคละสองวรรค วรรคแรกคือเนื้อหาที่ต้องการกล่าวถึง วรรคหลังคือคำอธิบายเหตุผลหรือสาระของมัน เช่น ตัวอย่างสองประโยคแรก อธิบายว่า อันคนเรานั้นแต่เดิมมีจิตใจดี นิสัยใจคอธรรมชาติให้มาใกล้เคียงกัน แต่เมื่อฝึกฝนกันไปความแตกต่างก็จะยิ่งมากขึ้น เป็นต้น มีเว็บไทยอธิบายไว้ ลองไปอ่านดูนะคะ (https://pasajeen.com/three-character-classic/) - ‘ร้อย’ หมายถึง ‘หนึ่งร้อยแซ่’ (ป่ายเจียซิ่ง / 百家姓) แต่จริงๆ รวมไว้ทั้งหมด 504 แซ่ มีมาแต่สมัยซ่งเหนือ ไว้ให้หัดจำตัวอักษร แฝงไว้ซึ่งความสำคัญของวงศ์ตระกูล (สงสารเด็กอีกแล้ว อักษรจีนจำยากนะ) - ‘พัน’ หมายถึง ‘บทความพันอักษร’ (เชียนจื้อเหวิน / 千字文) เป็นหนังสือโบราณตั้งแต่ยุคราชวงศ์ใต้ (ค.ศ. 502-549) โดยครั้งนั้นฮ่องเต้เหลียงอู่ตี้ให้ขุนนางเลือกอักษรออกมาหนึ่งพันตัว แล้วเอามาเรียงร้อยจนได้เป็นบทความ แบ่งเป็นวรรคละสี่อักษร Storyฯ ได้ลองอ่านแล้วถึงกับถอดใจว่าอ่านเข้าใจยากมาก ต้องไปอ่านที่เขาแปลมาให้เข้าใจง่ายๆ อีกที สรุปใจความประมาณว่าธาตุทั้งหลายก่อเกิดเป็นสรรพสิ่ง สอดแทรกความรู้ทั่วไปเข้าไปเช่นว่า น้ำทะเลนั้นเค็ม น้ำจืดนั้นรสจาง เล่าต่อเป็นเรื่องการปกครองแว่นแคว้นให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุข สอดแทรกหลักคุณธรรมของกษัตริย์ เล่าเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ สอดแทรกแนวปฏิบัติเช่น ความกตัญญูต่อพ่อแม่ การวางตัวให้มีจริยธรรม การแต่งกายอย่างสะอาดสุภาพ ฯลฯ - อีก ‘พัน’ สุดท้ายคือ ‘บทกวีพันเรือน’ (เชียนเจียซือ /千家诗) จัดทำขึ้นในสมัยชิง เป็นหนังสือที่รวบรวมบทกวีและวลีเด็ดของยุคสมัยถังและซ่ง (แม้จะมีของสมัยหยวนและหมิงปนมาบ้างแต่น้อยมาก) รวมทั้งสิ้น 226 ชิ้นงาน เน้นการสอนอ่านให้คล่อง ออกเสียงให้ชัด และมีจังหวะจะโคน หนังสือเรียนเด็กยังมีอีกไม่น้อย ใครท่องได้ไวเรียนเก่งก็พัฒนาไวไปจนอ่านบันทึกพิธีการโจวหลี่และซื่อซูของขงจื๊อได้แม้จะเป็นแค่เด็กตัวกะเปี๊ยก แต่แค่ที่เขียนมาข้างต้น Storyฯ ก็รู้สึกเหนื่อยแทนแล้ว มิน่าล่ะ เราถึงเห็นฉากในละครบ่อยๆ เวลาเด็กท่องหนังสือก็ร่ายกันไปยาวๆ หัวก็โคลงหมุนไปตามจังหวะการท่องด้วย แล้วเพื่อนเพจล่ะคะ รู้สึกยังไงกันบ้าง? (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: http://www.fakutownee.cn/wenti/yule/16786.html https://www.sohu.com/a/584299187_161835 https://wang-tobeboss.com/archives/1449 https://www.hrxfw.com/fjbk/fjdj/2682.html https://zhuanlan.zhihu.com/p/323332934 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://baike.baidu.com/item/三百千千/10984837 https://www.lzs100.com/post/565.html https://www.sohu.com/a/584299187_161835 https://baike.baidu.com/item/蒙学/5024354 #หนังสือเรียนจีนโบราณ #เหมิงเสวี๋ย #คัมภีร์สามอักษร #ซานจื้อจิง #ร้อยตระกูล #ร้อยแซ่ #ป่ายเจียซิ่ง #พันอักษร #เชียนจื้อเหวิน #กวีพันเรือน #เชียนเจียซือ
    PASAJEEN.COM
    คัมภีร์ภาษาจีน สามอักษร 三字经 | ภาษาจีน.คอม "เปิดโลกอักษรจีน เปิดโลกภาษาจีน"
    เสน่ห์ของ 三字经 อยู่ที่การท่องทีละ 3 คำ และแม้มีการแบ่งคำ แบ่ง 3 คำๆก็จริง ยังแยกเป็นคู่ๆ สังเกตุจากเครื่องหมายวรรคตอน โดย 3 ตัวแรก อาจบอกสาเหตุ 3 ตัวหลังบอกผล หรือ 3 ตัวแรก อาจบอกอะไรสักอย่าง 3 ตัวหลังขยายความ คู่ ที่ 1 人之初,性本善。คู่ที่ 1 3 ตัวแรกบอกว่า กำเนิดของมนุษย์ หรือธรรมชาติดั้งเดิมของคน 3 ตัวหลังบอกว่า พื้นฐานจิตใจมีเมตตากรุณา คู่ ที่ 2 性相近,习相远。 3 ตัวแรกบอกว่า จิตใจอารมณ์มนุษย์ทุกคนธรรมชาติให้มาใกล้เคียง 3 ตัวหลังบอกว่า การฝึกหัด (อาจดีหรือเลว อยู่ที่สิ่งแวดล้อม) ทำให้คนห่างไกลกัน คนเราพื้นฐานล้วนคล้ายคลึงกันคือเป็นคนดี แต่สิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนแตกต่างกัน อันนี้เป็นความเชื่อ ที่นำไปสู่ทัศนคติ การอบรม ลัทธิต่างๆอีกมากมาย บางระบบอย่างฝรั่ง
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 473 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    Storyฯ ย้อนไปอ่านนิยายเก่าๆ และกลับมาอ่านนิยายต้นฉบับที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครเรื่อง <ทุกชาติภพ กระดูกงดงาม> อดไม่ได้ที่จะพูดถึงสาระที่อัดแน่นในนิยายเรื่องนี้อย่างมากมาย โดยเฉพาะบทกวีโบราณ วันนี้เราจะคุยถึงฉากที่นางเอก (ภาคปัจจุบัน) ปรับเสียงของสายพิณของพิณโบราณ (กู่ฉิน) ให้เด็กข้างบ้าน พระเอกได้ยินฝีมือบรรเลงแล้วก็รู้สึกชื่นชมในฝีมือของนางเอก ในนิยายบรรยายไว้ดังนี้ ... โจวเซิงเฉินกล่าว “เมื่อครู่ที่เธอบรรเลงพิณ ทำให้ผมนึกถึงกลอนบทหนึ่ง... แสงและไอเย็นหลอมละลายเข้ากันหน้าสิบสองประตู ยี่สิบสามเส้นไหมสะท้านถึงในพระราชฐาน” สืออี๋หัวเราะแล้วเอ่ย “คุณชายใหญ่คะ วลีนั้นมีไว้ชมพิณคงโหวนะนั่น” - จาก <ทุกชาติภพกระดูกงดงาม> ผู้แต่ง โม่เป่าเฟยเป่า (บทความ Storyฯ แปลเองจ้า) วันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะมาคุยเรื่องบทกวี นอกจากจะเกริ่นแค่สั้นๆ ว่า บทกวีนี้มีชื่อว่า ‘หลี่ผิงคงโหวอิ่ง’ (李凭箜篌引 แปลได้ประมาณว่า หลี่ผิงบรรเลงพิณนำพา) มีทั้งหมด 14 วรรค บรรยายถึงความงดงามของทิวทัศน์และเสียงพิณของนักดนตรีเลื่องชื่อในยุคเดียวกันคือหลี่ผิง โดยวลีที่โด่งดังก็คือ “แสงและไอเย็นหลอมละลายเข้ากันหน้าสิบสองประตู ยี่สิบสามเส้นไหมสะท้านถึงในพระราชฐาน” ที่กล่าวถึงข้างบน มีความหมายว่าเสียงพิณนั้นไพเราะจนสามารถละลายความหนาวของสารถฤดู และได้ยินไปถึงชั้นในของเมืองกระทั่งไปถึงจนแดนสวรรค์ บทกวีนี้เป็นหนึ่งในผลงานสร้างชื่อของหลี่เฮ่อ (李贺 ค.ศ. 790-816) จะเรียกว่าหลี่เฮ่อเป็นอัจฉริยะก็ว่าได้ เพราะเขาเริ่มแต่งโคลงกลอนตั้งแต่อายุเพียงเจ็ดขวบ เพื่อนเพจอาจเคยได้ยินชื่อ ‘หลี่ไป๋’ กวีเอกผู้โด่งดังจากยุคถัง แต่เพื่อนเพจทราบหรือไม่ว่า หลี่เฮ่อผู้นี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสี่ยอดนักกวีแห่งสมัยถังเช่นเดียวกับหลี่ไป๋? สี่ยอดกวีที่ว่านี้คือ: เซียนกวีหลี่ไป๋ ราชันกวีตู้ฝู่ พระเจ้ากวีหวางเหว่ย และภูติกวีหลี่เฮ่อ แต่วันนี้ที่ Storyฯ ตั้งใจมาคุยถึงเกร็ดที่แฝงอยู่ในวลีนี้ คือ 1) ทำไมประตูสิบสองบาน? และ 2) เส้นไหมยี่สิบสามเส้นคืออะไร? ประเด็นแรกคือเรื่อง ‘สิบสองประตู’ จริงๆ แล้วมันเป็นการกล่าวถึงเมืองฉางอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยถัง มีประตูเมืองสิบสองประตู (ดูภาพประกอบ2 ซ้าย ที่ Storyฯ วงสีแดงไว้ ไม่นับประตูพระราชวัง) คือทิศละสามประตู แต่ละประตูสร้างเป็นอาคารชั้นในและนอกรวมสามชั้น Storyฯ ค้นพบว่าแนวคิดการมีประตูเมืองสิบสองประตูนี้มีมาแต่โบราณ ปรากฏการบันทึกไว้ในบันทึกพิธีการสมัยราชวงศ์โจวหรือ ‘โจวหลี่’ ในบรรพที่ว่าด้วยการค้าและงานวิศวกรรมหรือที่เรียกว่า ‘เข่ากงจี้’ (考工记) โดยบันทึกดังกล่าวมีการบรรยายถึงลักษณะที่ถูกต้องของเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนและทิศทาง โดยเน้นเลขเก้าเป็นเลขมงคล เช่น แต่ละด้านของเมืองให้หันตรงทิศและมีความยาวเก้าหลี่ มีประตูเมืองสามประตูในแต่ละทิศ แต่ละประตูมีถนนสามสายตรงเข้าสู่บริเวณพระราชวังตรงใจกลางเมือง นับได้เป็นเหนือ-ใต้เก้าเส้น และตะวันออก-ตะวันตกอีกเก้าเส้น อาคารต่างๆ ให้เริ่มจากด้านในเป็นพระราชวังแล้วค่อยขยายออกมาเป็นวง (ดูภาพประกอบ2 ขวา) หลักการสิบสองประตูนี้ถูกใช้กับนครฉางอัน แต่รายละเอียดแปรเปลี่ยนไปตามแนวทางการวางผังเมืองที่พัฒนาไปให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรและลักษณะการใช้งาน และหลักการนี้ไม่ปรากฏในเมืองหลวงยุคต่อๆ มา แม้ว่าจะยังคงหลักการให้มีประตูเมืองครบสี่ทิศ อาทิตย์หน้าเรามาต่อกันด้วยเรื่องของ ‘เส้นไหมยี่สิบสามเส้น’ กันค่ะ (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://zh.wikipedia.org/wiki/一生一世_%282021年电视剧%29 https://www.sohu.com/a/155060661_701638 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://www.gushimi.org/shangxi/7477.html https://baike.baidu.com/item/李凭箜篌引/2880645 https://baike.baidu.com/item/周礼·考工记·匠人/18164579 http://www.kaogu.cn/uploads/soft/2017/20171027xulongguo.pdf #กระดูกงดงาม #หลี่เฮ่อ #นครโบราณฉางอัน #ประตูเมืองฉางอัน #กวีเอกยุคถัง
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 386 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    วันเวลาประชุมท้องพระโรงสมัยถัง สวัสดีค่ะ หยุดปีใหม่ไปแล้ว วันนี้เรามาคุยกันเรื่องการทำงาน เชื่อว่าเพื่อนเพจต้องคุ้นตากับภาพที่เหล่าขุนนางระดับสูงต้องตื่นแต่เช้ามายืนเข้าแถวเพื่อร่วมประชุมท้องพระโรง ไม่ทราบว่ามีใคร ‘เอ๊ะ’ เหมือน Storyฯ กันบ้างไหมว่า เขา ‘เข้างาน’ กันเมื่อไหร่? ความถี่และชั่วโมงการประชุมท้องพระโรงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยค่ะ วันนี้เราคุยกันเกี่ยวกับสมัยถัง ในบันทึกรวมบทกฎหมายถังลิ่วเตี่ยน (唐六典) มีระบุไว้ดังนี้: ขุนนางติดยศระดับห้าและสูงกว่าที่ประจำอยู่ในเมืองหลวง และข้าราชสำนักที่ต้องถวายงานใกล้ชิด ให้เข้าร่วมประชุมท้องพระโรงทุกวัน ส่วนขุนนางติดยศระดับเก้าจนถึงระดับหกที่ประจำอยู่ในเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุ๋นหรือบู๊ ต้องเข้าร่วมประชุมใหญ่ทุกวันที่หนึ่งและสิบห้าของเดือน และในวันสำคัญอื่นๆ ที่กำหนด เช่นวันแรกแห่งปี เป็นต้น ส่วนขุนนางในพื้นที่อื่นนั้น หากจะเข้าร่วมประชุมท้องพระโรงต้องเป็นขุนนางติดยศระดับห้าหรือสูงกว่า และต้องได้รับการเรียกตัวจากฮ่องเต้ ไม่อย่างนั้นก็เข้าร่วมไม่ได้ นักการเมืองและกวีเอกสมัยถัง ไป๋จวีอี (ค.ศ. 772-846) เคยเขียนไว้ในบทกวี “กลับค่ำออกแต่เช้า” (晚归早出) บรรยายถึงกิจวัตรประจำวันการทำงานโดยมีวรรคหนึ่งเขียนไว้ว่า “ออกจากที่ทำการก็มืดแล้ว คำนับหัวจรดพื้นในยามรุ่งสาง” ซึ่งก็คือเริ่มไปประชุมท้องพระโรงก่อนฟ้าสว่าง กว่าจะได้กลับบ้านก็ดึก ประชุมท้องพระโรงสมัยนั้นเริ่มตีห้า แต่เหล่าขุนนางต้องไปเตรียมตัวรอเข้าเฝ้าตั้งแต่ประมาณตีสี่ ระยะเวลาการประชุมนั้นไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเลิกประชุมระหว่างยามเฉินและยามซื่อ (คือ07.00-10.59น.) หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปเข้าออฟฟิศที่กรม/กระทรวงของตัวเอง กว่าจะเลิกงานก็ประมาณยามเซิน (คือ 15.00-17.00น.) มีปรับเวลาตามฤดู กล่าวคือถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวก็ประมาณ 15.00น. ฤดูร้อนก็ค่อนไปทาง 17.00น. ถ้าใครมีงานมากก็ต้องอยู่เย็นกว่านั้น ชั่วโมงทำงานไม่โหดร้าย แต่คงต้องคิดถึงเวลาเดินทางไปกลับจากที่ทำงาน ก่อนอื่นมาทวนความทรงจำเกี่ยวกับนครฉางอันและถนนจูเชวี่ยที่คุยกันไปก่อนปีใหม่ (ดูรูปประกอบ 2) จากในรูปจะเห็นว่าเหล่าสถานที่ราชการ (กรม กระทรวง ศาล ฯลฯ) ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าเขตพระนครหรือหวงเฉิง (皇城 / Royal City) ขึ้นเหนือไปอีกคือเขตพระราชวังหรือกงเฉิง (宫城 / Palace City) และพื้นที่รอบๆ เขตพระนครและเขตพระราชวังนี้ถูกซอยแบ่งเป็นเขตฟางสำหรับอยู่อาศัย สถานที่ราชการทั้งหลายอยู่ในเขตพระนคร แต่ขุนนางติดยศทั้งหลายไม่ได้พำนักอยู่ในเขตพระนคร หากแต่กระจายอยู่ตามเขตฟางใกล้ๆ และไม่ใช่ทุกคนที่ขี่ม้าหรือนั่งรถม้ามาทำงานได้ ส่วนใหญ่จะนั่งเกี้ยว (ก็ยังพอได้งีบระหว่างเดินทางบ้าง) ซึ่งขนาดของเกี้ยวและจำนวนคนที่หามเกี้ยวก็จะลดหลั่นกันไปตามยศขุนนาง แต่เมื่อถึงประตูเขตพระราชวังก็ต้องเดินเท้าทั้งหมด จากประตูเขตพระราชวังทางทิศใต้ที่เหล่าขุนนางเดินเข้ามา ต้องเดินขึ้นไปเรื่อยจนเหนือสุดที่เป็นติ่งออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครฉางอัน (กรุณาดูรูปประกอบ) ซึ่งก็คือบริเวณพระราชฐาน พระราชวังต้าหมิงกง (大明宫 / Daming Grand Palace) และสถานที่ประชุมท้องพระโรงก็คือพระที่นั่งจื่อเฉิน (紫宸殿) เพื่อนเพจลองดูระยะทางจากเขตฟางแถวๆ หน้าประตูจูเชวี่ยทางใต้ของเขตพระนคร ขึ้นไปยังพระที่นั่งจื่อเฉินในแผนที่ ก็จะเห็นได้ว่า ระยะทางนี้ไม่น้อยเลย (อย่าลืมว่าถนนจูเชวี่ยยาวกว่า 5 กิโลเมตร และเขตฟางหนึ่งมีหน้ากว้างประมาณ 0.6-1 กิโลเมตร) ลองคิดเอาว่าถ้าต้องเดินเท้าระยะทางนี้จะใช้เวลานานเท่าใด ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เหล่าขุนนางต้องตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งตีสองแต่งตัวออกจากบ้านเพื่อไปให้ถึงพระที่นั่งจื่อเฉินตอนตีสี่เพื่อรอเข้าประชุม เพราะว่าถ้าไปสายจะโดนหักเงินเดือน และกว่าจะเลิกงานกลับถึงบ้านก็มืดแล้วจริงๆ (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://zhuanlan.zhihu.com/p/657711648 https://baike.baidu.com/item/唐长安城/5845041 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://gushiju.net/ju/279740 https://www.sohu.com/a/199347205_527107 https://www.sohu.com/a/199977205_653164 https://baike.baidu.com/item/紫宸殿/3232283 https://kknews.cc/history/6kzmj8v.html http://www.shxdx.com:8080/dxb/newspaper/1206/4ban/02.html#:~:text=唐代的长安城,分隔成许多方块区域 #ยอดขุนนางหญิงเจ้าเสน่ห์ #ฉางอัน #ประชุมท้องพระโรง #พระที่นั่งจื่อเฉิน #พระราชวังต้าหมิงกง
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 496 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    อ่านเอาเรื่อง Ep.92 : อะไรคือ DeepSeek สองสามวันนี้มีข่าวใหญ่ชิ้นหนึ่งที่ดังไปทั่วโลกครับ นั่นคือ มีระบบเอไอชื่อ DeepSeek (ดีปซีค) ของจีนออกมาให้คนใช้ฟรีแล้วทำให้หุ้นบริษัทชิปใหญ่ๆอย่าง NVIDIA ร่วงกระจุยกระจาย ตอนแรกผมเห็นข่าวนี้แล้วก็ไม่เข้าใจว่าเจ้าเอไอชื่อ “ดีปซีค” นี้มันดีวิเศษอย่างไร เอไอที่ผมรู้จักก็มีแค่ “ChatGPT" ก็เลยไปค้นคว้าหาข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังครับ ถ้าอ่านไม่เข้าใจก็ตัวใครตัวมันนะครับ 😉 . . . คำถามแรกคือ ”เอไอโมเดล“ คืออะไร? ถ้าผมแปลศัพท์ตรงตัวว่า ”ปัญญาประดิษฐ์“ ก็คงเหมือนผมไม่ได้ตอบอะไร จึงขอตอบว่า เอไอเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่นักวิจัยเขาสร้างขึ้นมาเพื่อให้มันเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ครับ เปรียบเทียบง่ายๆก็คือ เอไอคือสมองของคนๆหนึ่ง ที่เราอยากให้เขารู้อะไร เราก็สอนหรือใส่ข้อมูลเข้าไปให้หัวเขา เช่น ถ้าอยากให้เขาแยกให้ออกระหว่างรูปภาพหมากับแมว เราก็ให้เขาดูรูปหมากับแมวเยอะๆจนเขาแยกหมาออกจากแมวได้ ต่อมานักวิจัยก็ทดสอบเอไอว่าจะตอบถูกหรือตอบผิด แล้วก็แก้ไขกันไปเรื่อยจนมั่นใจว่าโอเคแล้วจึงปล่อยออกสู่ตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเอไอยี่ห้อ ChatGPT ที่ออกมาให้เราใช้กันฟรีๆ คำถามต่อมา ”แล้วนักวิทยาศาสตร์เขาใช้คอมพิวเตอร์เลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ได้ยังไง“ คำตอบคือ ใช้หลักการเดียวกับการรับรู้ของร่างกายมนุษย์ครับ นั่นคือ เขาแบ่งขั้นตอนการทำงานของคอมพิวเตอร์เป็นส่วนๆ เริ่มจาก ”ตามองเห็น“ ดวงตาเราก็แยกสิ่งที่เห็นก่อนว่า เห็นรูปภาพ หรือเห็นตัวหนังสือ ต่อมาก็เอาสิ่งที่เห็นไปแยกแยะต่อว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เช่น เราสั่งให้เอไอวาดรูปผู้หญิงสวยขึ้นมาหนึ่งรูป เจ้าเอไอก็จะไปดูข้อมูลจากฐานข้อมูลว่า ”ผู้หญิงสวยคืออะไร“ ”อะไรคือความหมายของคำว่าสวย?“ ”คนสั่งให้วาดเป็นคนชาติไหน?“ ”นิยามคำว่าสวยของคนชาตินี้คืออะไร“ “มิติสัดส่วนร่างกายที่ว่าสวยคืออะไร?“ ”แสงเงาแบบไหนที่ช่วยทำให้สวย“ และอื่นๆอีกมากมาย จนกระทั่งเอไอวาดรูปผู้หญิงสวยออกมาให้เราได้หนึ่งรูป . . . ดังนั้นอ่านมาถึงตอนนี้ เราๆท่านๆคงพอจะนึกออกอย่างหนึ่งว่า เอไอจะฉลาดเพียงไหนนั้น ประการหนึ่งขึ้นอยู่กับว่านักวิทยาศาสตร์เขาป้อนข้อมูลให้เอไอมากแค่ไหนและฝึกสอนทดสอบเจ้าเอไอมากแค่ไหนด้วย ยิ่งข้อมูลเยอะ ยิ่งฝึกและทดสอบเยอะ คุณภาพก็จะยิ่งดี ถ้านักวิทยาศาสตร์ใส่บทกวี บทกลอน บทเพลง เนื้อร้องและดนตรีเข้าไปให้มากๆ แล้วสอนเอไอไปว่าเพลงนี้เพราะหรือไม่เพราะด้วยเหตุอะไร เอไอก็จะสามารถเขียนเพลงที่เพราะๆออกมาได้ เพราะเอไอรู้ว่า “เพลงที่มนุษย์ว่าไพเราะนั้นเป็นแบบไหน” ซึ่งในตอนนี้ผมขอเล่าเพิ่มอีกอย่างหนึ่งว่า นักวิทยาศาสตร์เขาพัฒนาให้เอไอสามารถสร้างข้อมูลเก๊หรือรูปภาพปลอมๆขึ้นมาได้ด้วย เพื่อเอามาทดสอบตัวเองว่าจะแยกแยะได้ไหมว่าอันนี้คือข้อมูลเก๊ ระบบนี้เรียกว่า GAN (Generative Adversarial Network) คือ เอไอจะแบ่งสมองตัวเองเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรกคือตัวสร้างข้อมูลปลอมขึ้นมา (Generator) ฝั่งที่สองคือฝั่งตำรวจที่ตรวจว่าข้อมูลนี้จริงหรือปลอม (Discriminator) หรือ ฝั่งแรกเขียนเพลงที่ไม่เพราะออกมา อีกฝ่ายทำหน้าที่เป็นคนฟังแล้วบอกว่าเพลงนี้เพราะหรือไม่เพราะ สองฝั่งนี้จะประลองกำลังสู้กันไปสู้กันมาเรื่อยๆ ยิ่งสู้กันนานเข้า ฝ่ายสร้างข้อมูลก็จะเก่งขึ้น ฝ่ายตรวจสอบก็เก่งขึ้นเช่นกัน และเขาทำกันยังงี้เป็นล้านๆครั้ง นี่แหละครับที่เขาเรียกว่า “เอไอสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง” หรือ Machine Learning . . . ทีนี้มาถึงว่า ”แล้วดีปซีคมันดีวิเศษเหนือกว่า ChatGPT อย่างไร?“ ถ้าตอบในมุมผู้ใช้อย่างเราที่โหลดแอปมาใช้ฟรีๆนั้น คำตอบคือ ”แทบไม่แตกต่าง“ เพราะทั้งดีปซีคและ ChatGPT นั้นฟรีและดีทั้งคู่ ความแตกต่างจะอยู่ในเลเวลของคนที่เขาอยากสร้างระบบเอไอขึ้นมาบ้าง หรือที่เรียกว่า ”ผู้พัฒนาเอไอ หรือ Developer“ เพราะทั้งดีปซีคและChatGPT นั้นเขาได้สร้างสิ่งเดียวกันขึ้นมา คือ “สมองที่สามารถเรียนรู้อะไรก็ได้” ตามแต่ว่าผู้พัฒนาอยากจะให้สมองนี้เรียนรู้อะไร แต่สมองของดีปซีคนั้นราคาถูกกว่าสมองของ ChatGPT เพราะดีปซีคเขียนซอฟท์แวร์ให้กระบวนการเรียนรู้ของเอไอดีปซีคมีประสิทธิภาพกว่า จับประเด็นเรียนรู้ได้เร็วกว่าโดยใช้เทคนิคที่ดีกว่า ทำให้ระบบดีปซีคไม่ต้องใช้ชิปประมวลผลราคาแพงๆอย่างยี่ห้อ NVIDIA รุ่น A100 และ H100 GPU ที่ราคาเป็นหมื่นดอลล่าร์ซึ่ง ChatGPT นั้นใช้อยู่เป็นร้อยๆพันๆชิ้น อันทำให้ต้นทุนการพัฒนาเอไอยี่ห้อ ChatGPT นั้นแพงหลักร้อยล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ดีปซีคนั้นใช้งบพัฒนาแค่ 6 ล้านดอลล่าร์ และที่สำคัญดีปซีคนั้นเขาบอกว่า โค้ดที่เขาเขียนขึ้นมาใช้ฝึกเอไอนั้น”แจกฟรี“ครับ ใครอยากใช้ก็เอาไปพัฒนาต่อได้เลย แค่ไปหาซื้อฮาร์ดแวร์มาแล้วก็เทรนเอไอเองได้เลย ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้พัฒนาเอไอนั้นถูกลงมหาศาล ไม่ต้องเขียนโค้ดสร้างระบบเอไอขึ้นมาใหม่และไม่ต้องไปซื้อชิปแพงๆของ NVIDIA มาใช้แล้ว ใช้แต่เพียงชิปราคาประหยัดก็ได้ เป็นเหตุให้หุ้น NVIDIA ซึ่งขายชิปแพงๆและครองตลาดนี้มานานร่วงเป็นแสนล้านดอลล่าร์ อันเป็นที่มาของข่าวว่า “หุ้น 7 นางฟ้า” ซึ่งหมายถึงหุ้นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของอเมริกา คือ กูเกิ้ล, เทสล่า, แอมะซอน, ไมโครซอฟท์, แอปเปิ้ล, เมต้า (เฟซบุ๊ค) และ NVIDIA ร่วงกระจุยกระจาย แค่เพียงเพราะจีนส่งเอไอดีปซีคซึ่งดีกว่า ถูกกว่า และฟรีออกมาในตลาด บางสำนักข่าวในอเมริกาเองถึงกับบอกว่า ดีปซีคนี้ออกมาทำลายตลาด (Disrupt) เอไอของอเมริกาแบบโป้งเดียวจอด จีนนี่ไม่ธรรมดาจริงๆ ขอปรบมือให้ …และผมขอปรบมือให้คุณผู้อ่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ด้วยครับ หวังว่าผมอธิบายแล้วท่านจะอ่านเข้าใจนะครับ… นัทแนะ
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 370 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    เถาฝู ป้ายมงคลฉลองตรุษจีนโบราณ เข้าสู่เทศกาลตรุษจีนแล้ว ก็คงไม่แคล้วต้องคุยถึงประเพณีและวัฒนธรรมจีนโบราณที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลตรุษจีน ปีก่อนๆ ที่ Storyฯ เคยกล่าวถึงไปคือ: การโส่วซุ่ยหรืออดนอนข้ามคืนเป็นนัยว่าให้ผู้ใหญ่ในบ้านอายุยืนยาว; การกินสุราสมุนไพรเช่นสุราพริกหอม; คำมงคลและอักษรประสม ใครยังไม่ได้อ่านลองย้อนกลับไปอ่านนะคะ (หาลิ้งค์ได้ในสารบัญของเพจ) วันนี้มาคุยกันถึงป้ายมงคลคู่แบบหนึ่ง เรียกว่า ‘เถาฝู’ (桃符) แปลตรงตัวว่าป้ายที่ทำจากไม้ท้อ เป็นป้ายมงคลคู่ที่ในสมัยจีนโบราณนิยมติดกันหน้าบ้านเพื่อต้อนรับตรุษจีน อดีตกวีเอกและนักการเมืองสมัยซ่งเคยประพันธ์บทกวีชื่อ <หยวนรึ> (元日/วันขึ้นปีใหม่) บรรยายถึงธรรมเนียมตรุษจีนไว้ Storyฯ เรียบเรียงดังนี้ เสียงประทัดลั่นคือหนึ่งปีที่ผันผ่าน ลมวสันต์อุ่นสุราแห่งศกใหม่ พันบ้านหมื่นเรือนก่อนอรุณรุ่ง ล้วนนำท้อใหม่เปลี่ยนป้ายเก่า ‘ท้อใหม่ป้ายเก่า’ ที่กล่าวถึงก็คือ ‘เถาฝู’ แรกเริ่มเลย ‘เถาฝู’ คือป้ายไม้ที่ทำจากต้นท้อ ในเอกสารที่จัดทำขึ้นในสมัยราชวงศ์เหนือใต้เกี่ยวกับราชวงศ์ก่อนๆ นั้น มีบรรยายไว้ว่า: เถาฝูมีขนาดยาวหกนิ้ว กว้างสามนิ้ว; วันที่หนึ่งเดือนหนึ่ง ทำป้ายติดเรือนด้วยไม้ท้อ คือไม้ศักดิ์สิทธิ์; บนป้ายเขียนชื่อสองเทพเจ้าแปะไว้ซ้ายขวา ซ้ายคือเทพเซินซู ขวาคือเทพอวี้ลวี่ ฯลฯ ประวัติของเทพเจ้าสององค์นี้แตกต่างกันไปตามตำนานปรัมปราหลากหลายที่เล่าขานกันมา แต่เรื่องราวที่เหมือนกันก็คือทั้งสองเทพเจ้านี้เฝ้าอยู่ใต้ร่มไม้ต้นท้อยักษ์ ใช้กิ่งเถาของต้นท้อจับภูตผีที่ทำตัวไม่ดีไปโยนให้เสือกิน จึงเป็นที่มาว่าไม้ท้อเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สามารถขับไล่ภูตผีและสิ่งชั่วร้ายได้ ในวันปีใหม่จึงมีธรรมเนียมแปะเถาฝูเพื่อให้ปกปักษ์คุ้มครองบ้าน ป้องกันภูตผีและสิ่งชั่วร้าย พอขึ้นปีใหม่ก็เปลี่ยนเถาฝูชุดใหม่ ธรรมเนียมหลายพันปีย่อมมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลง จากการเขียนชื่อสองเทพเจ้ากลายเป็นการแกะสลักรูปภาพเทพเจ้าบนไม้ท้อ กลายเป็นภาพวาดบนกระดาษ นอกจากนี้ในสมัยถังก็เปลี่ยนจากรูปของเทพเซินซูอวี้ลวี่เป็นรูปขุนพลในสมัยถังที่ถูกยกย่องประหนึ่งเป็นเทพสงคราม ซึ่งที่กล่าวมานี้ก็คือธรรมเนียมการแปะรูปเทพเจ้าเหมินเสิน (เทพพิทักษ์ประตู/เทพทวารบาล) ในปัจจุบันนั่นเอง แต่คำว่า ‘เถาฝู’ ในสมัยซ่งไม่เพียงหมายถึงป้ายชื่อหรือรูปภาพเทพทวารบาล หากแต่ยังหมายรวมถึงป้ายที่มีกลอนคู่มงคลหรือวลีรับตรุษจีน (หมายเหตุ กลอนคู่เรียกรวมว่า ‘ตุ้ยเหลียน’ ส่วนวลีมงคลที่มีใจความรับปีใหม่เรียกอย่างเฉพาะเจาะจงได้ว่า ‘ชุนเหลียน’) ไอเดียการเขียนกลอนคู่ลงบนป้ายไม้ท้อนี้ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าริเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่ในเอกสารโบราณเกี่ยวกับแคว้นซีสู่ (สมัยสิบหกแคว้นช่วงปีค.ศ. 304-439) มีกล่าวถึงการเขียนกลอนคู่บนป้ายไม้ท้อเพื่อประดับในพระราชวังแล้ว เอกสารโบราณของสมัยหมิงกล่าวไว้ว่า: ประเพณีการติดกลอนคู่มงคลชุนเหลียนในวันตรุษจีนนั้น ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยองค์หมิงไท่จู่ (จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง) โดยมีการประกาศในเมืองหลวงในคืนวันสิ้นปีให้ขุนนางข้าราชการต่างๆ ติดชุนเหลียนไว้หน้าจวน/เรือนของตน เพื่อว่าเวลาทรงเสด็จประพาสต้นจะได้ทอดพระเนตร และในสมัยนั้นได้มีการเรียกจำแนกไว้ว่า ‘เถาฝู’ หมายรวมถึงภาพและกลอนที่ทำขึ้นบนป้ายไม้ท้อ และ ‘ชุนเทีย’ หมายรวมถึงภาพและกลอนที่ทำขึ้นบนกระดาษเพื่อรับตรุษจีน และต่อมาในสมัยชิง กระดาษชุนเทียมีดีไซน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอักษรเดียว วลีเดี่ยวติดแนวขวางเหนือประตู แนวตรงติดข้างประตู ติดหน้าบานประตู ฯลฯ สืบทอดมาจนปัจจุบัน ประเพณีติดป้ายเถาฝูหายไปตามยุคสมัย แต่เราจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วมันคือต้นกำเนิดของการติดภาพวาดเหมินเสินที่ประตู และเป็นต้นกำเนิดของการแปะกลอนคู่มงคลตุ้ยเหลียนที่ยังทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอีกด้วย (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพและข้อมูลเรียบเรียงจาก: https://www.gov.cn/govweb/ztzl/08cjtbch/content_861150.htm https://www.workercn.cn/32843/201902/06/190206095618327_3.shtml https://kknews.cc/culture/3am8x23.html http://weixin.chinafolklore.org/?p=15620 https://so.gushiwen.cn/mingju/juv_e3da8d97be73.aspx https://www.soundofhope.org/post/468983 https://baike.baidu.com/item/桃符 #ประเพณีตรุษจีน #ตุ้นเหลียน #เหมินเสิน #เทพเจ้าประตู #กลอนคู่มงคล #เถาฟู #ป้ายไม้ท้อ
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 678 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    รหัสลับบทกวีจีนจาก <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> Storyฯ รู้สึกว่า บทกวีจีนโบราณนี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยาย/ซีรีส์จีนจริงๆ ไม่ทราบว่ามีใครที่ดูซีรีส์เรื่อง <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> แล้วรู้สึกสะดุดหูกับจังหวะจะโคนของรหัสลับที่องครักษ์ชุดแดงใช้ยืนยันตัวตนกันหรือไม่? สำหรับ Storyฯ แล้วมันเตะหูพอสมควร เพราะรหัสลับเหล่านี้ล้วนเป็นวลีจากบทกวีจีนโบราณ รหัสลับที่ยกตัวอย่างมาคุยกันวันนี้ คือตอนที่หรูอี้ให้คนปลอมตัวไปหาองครักษ์ชุดแดงเพื่อสืบหาคนที่ฆ่าหลินหลงตาย รหัสลับถามตอบนี้คือ ‘ซานสือลิ่วกงถู่ฮวาปี้’ (三十六宫土花碧) และ ‘เทียนรั่วโหย่วฉิงเทียนอี้เหล่า’ (天若有情天亦老) Storyฯ ขอแปลว่า ‘สามสิบหกพระตำหนัก ตะไคร่คลุมธรณี / หากฟ้ามีใจรัก ฟ้าย่อมชราลงเช่นกัน’ ฟังแล้วคงไม่ได้ใจความนัก เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ใช่วรรคที่ต่อเนื่องกัน แต่ทั้งสองวรรคนี้ปรากฏอยู่ในบทกวีเดียวกันที่มีชื่อว่า ‘จินถงเซียนเหรินฉือฮั่นเกอ’ (金铜仙人辞汉歌 แปลได้ประมาณว่า ลำนำเซียนจินถงลาจากแดนฮั่น) เป็นผลงานของหลี่เฮ่อ (ค.ศ. 790-816) สี่สุดยอดกวีแห่งสมัยถัง และนี่เป็นหนึ่งในบทกวีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ที่สุด’ ของเขา มันเป็นบทกวียาวที่กล่าวถึงการล่มสลายของอาณาจักรฮั่นที่ครั้งหนึ่งเคยเรืองรอง แต่กลับเหลือเพียงพระตำหนักที่ว่างร้างจนตะไคร่ปกคลุม เทพเซียนร่ำไห้ลาจาก จนถึงขนาดว่าถ้าฟ้ามีจิตใจรักได้เหมือนคน ก็คงรู้สึกอนาจใจเศร้าจนแก่ชราไปเช่นคน บทกวีนี้เต็มไปด้วยอารมณ์เศร้าอาดูรและแค้นใจในเวลาเดียวกัน สะท้อนถึงสภาพจิตใจของหลี่เฮ่อในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ราชวงศ์ถังอ่อนแอ และเขาเองจำเป็นต้องลาออกจากราชการและเดินทางจากนครฉางอันไปด้วยอาการป่วย แต่ที่ Storyฯ รู้สึกว่าน่าสนใจมากก็คือ วรรค ‘หากฟ้ามีใจรักฯ’ นี้ ถูกนำมาใช้ตั้งเป็นโจทย์ในการดวลบทกวีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเพื่อนเพจที่คุ้นเคยกับซีรีส์และนิยายจีนโบราณคงเคยผ่านตาว่า การดวลบทกวีนี้ เป็นการต่อกลอนคู่ โดยคนหนึ่งตั้งโจทย์วรรคแรก อีกคนมาแต่งวรรคต่อให้จบ ซึ่งวรรค ‘หากฟ้ามีใจรักฯ’ นี้ ถูกนำมาใช้เป็นวรรคแรกของกลอนคู่โดยไม่มีใครสามารถต่อวรรคท้ายได้อย่างสมบูรณ์มากว่าสองร้อยปี! ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งมากสำหรับยุคสมัยที่มีนักอักษรและนักประพันธ์มากมายอย่างสมัยถัง อนึ่ง การต่อวรรคคู่ที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่มีจำนวนอักษรเท่ากันและมีเสียงสูงเสียงต่ำคล้องจองกันเท่านั้น แต่ต้องมีความลงตัวในหลายด้าน เป็นต้นว่า 1) มีบริบทใกล้เคียง เช่น กล่าวถึงวัตถุที่จับต้องได้เหมือนกัน หรือจับต้องไม่ได้เหมือนกัน เป็นวัตถุที่สื่อความหมายในเชิงเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่วรรคแรกกล่าวถึงดอกไม้ วรรคหลังพูดถึงโต๊ะ อะไรอย่างนี้; 2) คุณศัพท์ที่ขยายนามหรืออารมณ์ที่สื่อต้องเหมือนกันหรือตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเพื่อแสดงความขัดแย้งบางอย่าง เช่น ฝนตกหนักกับแดดแรงจ้า หรือ ฝนตกหนักกับหยดน้ำเล็ก; ฯลฯ วรรค ‘หากฟ้ามีใจรัก ฟ้าย่อมชราลงเช่นกัน’ นี้มีคนต่อวรรคหลังมากมาย แต่ไม่มีความลงตัวอย่างสมบูรณ์จวบจนสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้ที่ต่อวรรคหลังนี้คือสือเหยียนเหนียน (ค.ศ. 994-1041) นักอักษรและกวีสมัยซ่งเหนือ ในค่ำคืนหนึ่งหลังจากดื่มสุราไปหลายกรึ๊บ ในยามกึ่งเมากึ่งมีสตินั้น เขาได้ยินคนรอบข้างต่อวรรค ‘หากฟ้ามีใจฯ’ นี้กันอยู่ จึงโพล่งวรรคต่อออกมาในทันใด ซึ่งก็คือ ‘หากจันทร์ไร้ใจเกลียด จันทร์ย่อมเต็มดวงยืนยง’ (月如无恨月长圆 / เยวี่ยหรูอู๋เฮิ่นเยวี่ยฉางเหยวียน) เป็นการต่อวรรคที่สมบูรณ์จนคนตะลึง เพราะไม่เพียงอักขระ คำบรรยายและบริบทลงตัว หากแต่ความหมายแฝงที่สื่อถึงสัจธรรมแห่งชีวิตยังสอดคล้องอีกด้วย ... หากฟ้ามีใจรัก ฟ้าย่อมชราลงเช่นกัน ... ... หากจันทร์ไร้ใจเกลียด จันทร์ย่อมเต็มดวงยืนยง ... วรรคต้นที่ไม่มีใครต่อวรรคได้มากว่าสองร้อยปี เกิดวรรคต่อที่สะเทือนวงการนักอักษรในสมัยนั้นจนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เพื่อนเพจอ่านและตีความแล้วได้ความรู้สึกอย่างไรคะ? เห็นความเป็น ‘กลอนคู่’ ของมันหรือไม่? (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_25539972 https://k.sina.cn/article_6502395912_18392b008001004rs9.html Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://so.gushiwen.cn/shiwenv_33199885635a.aspx https://baike.baidu.com/金铜仙人辞汉歌/1659854 https://www.sohu.com/a/484704098_100135144 https://www.workercn.cn/c/2024-02-06/8143503.shtml #ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก #หลี่เฮ่อ #กวีถัง #หากฟ้ามีใจรัก #สือเหยียนเหนียน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 553 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    ระฆังจิ่งหยางจง สวัสดีค่ะ วันนี้มาคุยกันสั้นๆ เกี่ยวกับเกร็ดเล็กน้อยจากเรื่อง <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> ในซีรีส์นี้มีเหตุการณ์สำคัญที่มีการตีระฆังเรียกให้เหล่าขุนนางมาชุมนุมกัน ครั้งแรกที่แคว้นอู๋ตอนที่ประกาศเรื่องฮ่องเต้ถูกแคว้นอันจับตัวไป เหล่าขุนนางเรียกระฆังนี้ว่า ‘จิ่งหยางจง’ และอีกเหตุการณ์หนึ่งคือที่หรูอี้ให้ตีระฆังเพื่อประกาศโทษของฮ่องเต้แคว้นอันต่อหน้าเหล่าขุนนาง ระฆังนี้มีชื่อว่า ‘อันหยางจง’ ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวในรัชสมัยสมมุติและดินแดนสมมุติ แต่ ‘จิ่งหยางจง’ (景阳钟) มีจริงในประวัติศาสตร์ แต่ไม่ปรากฏข้อมูลที่กล่าวถึง ‘อันหยางจง’ จึงสันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแคว้นอันในเรื่องนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับระฆังจิ่งหยางจงมีไม่มาก เพียงกล่าวไว้ว่ามีที่มาแต่สมัยราชวงศ์ฉีใต้ในรัชสมัยฮ่องเต้ฉีอู่ตี้ (ค.ศ. 440–493) ในตำราประวัติศาสตร์ฉีใต้ ‘หนานฉีซู’ บรรพที่ยี่สิบบันทึกไว้ว่า “เนื่องด้วยในพระราชฐานชั้นในไม่สามารถได้ยินเสียงกลองจากประตูตวนเหมิน จึงทรงให้จัดวางระฆังไว้บนหอจิ่งหยาง ข้าราชสำนักเมื่อได้ยินเสียงระฆังแต่เช้าก็ให้ตื่นขึ้นแต่งตัว... ระฆังดังเมื่อห้ากู่และสามกู่” อนึ่ง ประตูตวนเหมินเป็นชื่อประตูพระราชวังประตูบานหลักหน้าพระราชวัง (คือด้านทิศใต้) เป็นชื่อที่ถูกใช้มาหลายยุคสมัยหลายพระราชวังรวมถึงในสมัยราชวงศ์ฉีใต้ และในหลายยุคสมัยมีการจัดวางหอกลองหรือหอระฆังไว้ตีบอกเวลาหน้าประตูพระราชวัง ส่วนหอจิ่งหยางนั้น เป็นหอสูงในเขตพระราชวัง ณ เมืองเจี้ยนคัง (คือนานกิงปัจจุบัน) ในยุคสมัยต่อมามีการตั้งวางหอระฆังในพระราชวังเพื่อบอกเวลาเช่นกัน และมีการเรียกขานระฆังนี้กันต่อมาว่า ‘จิ่งหยางจง’ ลักษณะหน้าตาของจิ่งหยางจงนี้เป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบแต่เพียงว่าเป็นระฆังยักษ์ และการบอกเวลาโดยการตีระฆังจิ่งหยางจงนี้ถูกใช้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อเนื่องกันมาหลายรัชสมัย จวบจนสมัยราชวงศ์ชิงยังคงมีการเอ่ยถึงชื่อ ‘จิ่งหยางจง’ นี้ในหลายบทกวีที่กล่าวถึงเวลารุ่งสางหรือเวลาที่ขุนนางต้องตื่นขึ้นมาเข้าเฝ้าที่ท้องพระโรงเมื่อได้ยินเสียงระฆังนี้ ซึ่งก็สอดคล้องตามวัตถุประสงค์เดิมที่มีมาแต่สมัยราชวงศ์ฉีใต้ ส่วนเวลาที่ตีระฆังนั้น เดิมระบุว่าคือห้ากู่และสามกู่ ซึ่งในสมัยโบราณแบ่งช่วงเวลากลางคืนออกเป็นห้าช่วงเวลาเรียกว่า ‘กู่’ หรือ ‘เกิง’ เวลาห้ากู่ก็คือช่วงเวลาประมาณตีสามถึงตีห้า (ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ขุนนางต้องตื่นมาเตรียมประชุมท้องพระโรงดังที่ Storyฯ เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว) และเวลาสามกู่คือช่วงเวลาประมาณห้าทุ่มถึงตีหนึ่ง ซึ่งเป็นการเตือนว่าได้เวลาเข้านอนแล้ว ดังที่กล่าวไปข้างต้น ระฆังจิ่งหยางจงมีไว้บอกเวลายามเช้าและกลางคืน แต่ในซีรีส์ <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> มีการกล่าวไว้ว่าเมื่อได้ยินเสียงของระฆังนี้ ให้เหล่าขุนนางมารวมตัวกัน Storyฯ ก็หาไม่พบข้อมูลว่านอกเหนือจากเวลาห้ากู่และสามกู่แล้ว ได้เคยปรากฏเหตุการณ์พิเศษที่ต้องมีตีระฆังจิ่งหยางจงนี้เพื่อเรียกชุมนุมเหล่าขุนนางหรือไม่ นอกเหนือจากหอระฆังในพระราชวังแล้ว ยังมีหอระฆังในเมืองสำหรับบอกเวลาชาวบ้าน และมีหอระฆังตามวัดที่นอกจากจะใช้บอกเวลาแล้ว ยังใช้บอกเวลามีคนตายในละแวกนั้น ทั้งนี้แล้วแต่หลักปฏิบัติของแต่ละวัด (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://zhuanlan.zhihu.com/p/642825978 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://ctext.org/wiki.pl?if=gb&chapter=262732&remap=gb https://www.arsomsiam.com/หน่วยเวลาและนาฬิกาจีน/ https://baike.baidu.com/item/景阳钟 https://www.zdic.net/hans/景阳钟 #ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก #จิ่งหยางจง #หอระฆังพระราชวัง #ประชุมท้องพระโรง #ราชวงศ์ฉีใต้
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 445 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    หนึ่งรำลึกกวนซาน สวัสดีค่ะ เพื่อนเพจที่ไม่รู้ภาษาจีนอาจไม่ทราบว่าชื่อจีนของซีรีส์เรื่อง <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> นั้นมีความหมายแตกต่างจากชื่อไทย (หรือแม้แต่ชื่อภาษาอังกฤษ) ชื่อจีนที่ว่านี้คือ ‘อี๋เนี่ยนกวนซาน’ (一念关山แปลตรงตัวว่า หนึ่งความคิด/รำลึก + เขากวนซาน) วันนี้เรามาคุยกันเรื่อง ‘กวนซาน’ กัน ภูเขาที่มีชื่อว่า ‘กวนซาน’ นี้เป็นสถานที่จริงหรือไม่? จากข้อมูลที่หาได้ กวนซานคือบริเวณที่ในสมัยโบราณเรียกว่าเขาหล่งซานบรรจบเขตพื้นที่ราบกวนจง (ไม่ไกลจากอดีตเมืองฉางอัน) (ดูแผนที่ภาพ 2) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมโบราณที่เชื่อมจีนและดินแดนทางตะวันตก และเป็นพื้นที่สมรภูมิอยู่หลายครั้งหลายคราเพราะเป็นเส้นทางผ่านเขตแดนที่เชื่อมขึ้นไปตะวันตกเฉียงเหนือก่อนจะเข้าสู่อาณาเขตเหลียวหรือชี่ตัน มันเป็นเทือกเขาสูงและชัน สูงกว่า 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยากต่อการเดินทางและการป้องกัน แต่ในซีรีส์ <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> ไม่ได้เอ่ยชัดเจนถึงภูเขาหรือสถานที่ที่ชื่อว่า ‘กวนซาน’ จึงเป็นไปได้ว่าชื่อของซีรีส์นี้ไม่ได้หมายถึงสถานที่จริง Storyฯ เลยวางแผนที่ลงแล้วไปหยิบบทกวีโบราณมาดูกันว่าจริงแล้ว ‘กวนซาน’ หมายถึงอะไร ‘กวนซาน’ ปรากฏในบทกวีโบราณกว่าหนึ่งร้อยบท มักอยู่ในบริบทของบทกวีที่รำพันถึงความยากลำบากของชีวิต เปรียบเสมือนการเดินทางข้ามเขากวนซานที่ทั้งสูงทั้งอันตราย และเมื่อข้ามผ่านแล้วจะเดินทางกลับบ้านก็ยากยิ่งนัก มีบทกวีที่เตะตามาก ด้วยวรรคลงท้ายสองวรรคของบทกวีที่ใกล้เคียงกับชื่อซีรีส์นี้ คือวรรคที่กล่าวว่า “หนึ่งรำลึกถึงกวนซัน พันลี้พะวงถึงถ้ำรังจิ้งจอก” (一念起关山 千里顾丘窟) ซึ่งในที่นี้ ถ้ำรังจิ้งจอกเป็นการอุปมาอุปไมยถึงบ้านเกิด เพราะว่ากันว่าเวลาจิ้งจอกบาดเจ็บใกล้ตายจะพยายามกลับรัง บทกวีนี้มีชื่อว่า ‘เชวี่ยตงซีเหมินสิง’ (却东西门行 แปลได้ประมาณว่า ละทิ้ง(เมือง)ตะวันออกเดินทางออกประตูตะวันตก) ของเสิ่นเยวี้ย ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ใต้ บรรยายถึงการเดินทางของคนคนหนึ่งที่ขี่ม้ามุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกข้ามผ่านแนวเขา ย้อนมองเมืองหลวง (เมืองตะวันออก) แต่เมืองหลวงค่อยๆ เลือนหายไปในหมอกควัน วันเวลาที่ผันผ่านยิ่งทำให้รำลึกถึงอดีต ยามมองทิวเขานึกถึงถ้ำรังจิ้งจอกคือหวนคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน สะท้อนถึงชีวิตจริงของกวีที่ต้องจากลาเมืองหลวงเมื่อตระกูลตกต่ำ ดังนั้น ‘กวนซาน’ ในบทกวีนี้คือหมายถึงมาตุภูมิ และในอีกหลายบทกวีคำว่า ‘กวนซาน’ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อสะท้อนถึงความหมายนี้เช่นกัน และ Storyฯ คิดว่าชื่อภาษาจีนของ <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> สะท้อนได้ดีถึงการเดินเรื่องด้วยเรื่องราวความพยายามที่จะพาฮ่องเต้แคว้นอู๋กลับบ้าน และเรื่องราวความรักและความเสียสละของเหล่าตัวละครที่มีต่อแผ่นดินเกิด ... หนึ่งรำลึกคือกวนซาน ... หนึ่งรำลึกคือมาตุภูมิ (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://star.tom.com/202311/1572406490.html https://topimage.design/images/5cffdf94ccb56d3ea8caeb7d.html https://collection.sina.com.cn/plfx/20141223/1032174072.shtml?from=wap https://www.sohu.com/a/414709176_100091417 https://www.sohu.com/a/497600136_100185418 https://www.sohu.com/a/730286086_121157391 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://mt.sohu.com/20170416/n488714328.shtml https://www.sohu.com/a/730286086_121157391 https://www.cidianwang.com/lishi/diming/6/63246lp.htm https://www.gushiju.net/ju/1703370 #ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก #กวนซาน
    Like
    1
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 546 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    ไม่ใช่แค่คนไทยโดนหลอกครับ หญิงชาวฝรั่งเศสชื่อ Anne ถูกหลอกลวงกว่า 800,000 ดอลลาร์ หลังจากถูกติดต่อผ่านบัญชี Instagram ที่แสร้งเป็น Brad Pitt นักต้มตุ๋นใช้วิดีโอที่สร้างด้วย AI และภาพที่แก้ไขเพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นดาราฮอลลีวูด โดยอ้างว่าต้องการเงินด่วนสำหรับการรักษาไตและไม่สามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารได้เนื่องจากการหย่าร้างกับ Angelina Jolie Anne ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาชีวิตสมรสกับสามีเศรษฐีของเธอ ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นออนไลน์ที่ติดต่อเธอในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ผ่าน Instagram การแลกเปลี่ยนข้อความที่น่าพอใจในตอนแรกกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรัก โดย Brad Pitt ที่สร้างด้วย AI ส่งบทกวีและข้อความที่ทำให้ Anne หลงรักเขา แม้ว่า Anne จะสงสัยว่าบัญชีนี้เป็นของปลอม แต่ข้อความที่ส่งมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับวิดีโอและภาพที่สร้างด้วย AI ทำให้เธอเชื่อใจในที่สุด Brad Pitt ปลอมได้ขอให้เธอจ่ายค่าธรรมเนียมศุลกากรเพื่อรับของขวัญที่สัญญาไว้ ซึ่งเริ่มต้นที่ 9,000 ยูโร หรือประมาณ 9,231 ดอลลาร์ เมื่อ Anne บอกว่าเธอคาดว่าจะได้รับเงินจากการหย่าร้าง นักต้มตุ๋นใช้โอกาสนี้เพื่อหลอกลวงเงินจำนวนมากขึ้น โดยอ้างว่าต้องการเงินด่วนสำหรับการรักษามะเร็งไต และไม่สามารถเข้าถึงเงินของเขาได้เนื่องจากการหย่าร้างกับ Angelina Jolie Anne ได้ส่งเงินกว่า 800,000 ยูโร หรือมากกว่า 850,000 ดอลลาร์ ให้กับนักต้มตุ๋น ก่อนที่จะรู้ความจริงเมื่อเห็น Brad Pitt กับแฟนใหม่ของเขา Ines de Ramon ปัจจุบัน Anne กำลังรักษาตัวในคลินิกและมีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น https://wccf.tech/1ftbc
    WCCF.TECH
    Scammer Deprived A Woman Out Of Over $800,000 By Pretending To Be Brad Pitt Using AI-Generated Videos And Edited Images
    A person scammed a woman out of over $800,000 by using AI-generated videos to pretend that he was Brad Pitt
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 299 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    วลีจีน วิญญาณผู้กล้าหวนคืนมาตุภูมิ สวัสดีค่ะ Storyฯ เคยเขียนหลายบทความถึง ‘วลีเด็ด’ จากบทกวีจีนโบราณและวรรณกรรมจีนโบราณที่ถูกนำมาใช้ในหลายซีรีส์และนวนิยายจีน แต่จริงๆ แล้วก็มี ‘วลีเด็ด’ จากยุคปัจจุบันที่เคยถูกยกไปใช้ในซีรีส์หรือนิยายจีนโบราณด้วยเหมือนกัน วันนี้เรามาคุยกันถึงตัวอย่างหนึ่งจากซีรีส์ <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> เพื่อนเพจที่ได้ดูอาจพอจำได้ว่าในระหว่างการเดินทางของคณะฑูตแคว้นอู๋ไปยังแคว้นอันเพื่อช่วยกษัตริย์แคว้นอู๋นั้น พวกเขาพบซากศพและป้ายห้อยคอประจำตัวของเหล่าทหารจากหน่วยหกวิถีที่พลีชีพก่อนหน้านี้ในศึกที่แคว้นอู๋พ่ายแพ้ และได้จัดพิธีเผาศพให้กับพวกเขา (รูปประกอบ1) ในฉากนี้ หลี่อ๋องเซ่นสุราและกล่าวออกมาประโยคหนึ่งว่า “ดวงวิญญาณจงกลับมา อย่าได้โศกเศร้าไปชั่วนิรันดร์” (หมายเหตุ คำแปลตามซับไทย) ประโยคดังกล่าว ต้นฉบับภาษาจีนคือ ‘魂兮归来 维莫永伤 (หุนซีกุยหลาย เหวยม่อหย่งซัง)’ เป็นประโยคที่มาจากสุทรพจน์เมื่อปี 2021 เพื่อสดุดีทหารอาสาสมัครจีน โดยวรรคแรกถูกยกมาจากบทประพันธ์โบราณ ‘ดวงวิญญาณจงกลับมา’ วรรคนี้มาจากบทประพันธ์ที่มีชื่อว่า ‘เรียกดวงวิญญาณ’ (招魂 /จาวหุน) บ้างว่าเป็นผลงานของชวีหยวน ขุนนางและกวีแคว้นฉู่ในสมัยจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐที่เพื่อนเพจอาจเคยได้ยินชื่อจากตำนานบ๊ะจ่าง บ้างว่าเป็นผลงานของซ่งอวี้ ขุนนางจากแคว้นฉู่เช่นกัน บทประพันธ์ ‘เรียกดวงวิญญาณ’ เป็นบทประพันธ์ที่ยาวมาก ลักษณะคล้ายเล่านิทาน ใจความของบทประพันธ์เป็นการเรียกและหว่านล้อมดวงวิญญาณให้กลับมาบ้าน อย่าได้ไปหยุดรั้งอยู่ในดินแดน ณ ทิศต่างๆ โดยบรรยายถึงภยันตรายและความยากลำบากในดินแดนนั้นๆ ที่อาจทำให้ดวงวิญญาณอาจดับสูญได้ และกล่าวถึงความคิดถึงของคนที่บ้านที่รอคอยให้ดวงวิญญาณนั้นหวนคืนมา ซึ่งสะท้อนถึงธรรมเนียมโบราณที่ต้องทำพิธีเรียกดวงวิญญาณของผู้ที่ตายในต่างแดนให้กลับบ้าน ว่ากันว่าบทประพันธ์ ‘เรียกดวงวิญญาณ’ นี้มีที่มาจากเรื่องราวของกษัตริย์ฉู่หวยหวางที่เสียท่าให้กับกุศโลบายของแคว้นฉิน ถูกจับเป็นตัวประกันหลังพ่ายศึกและพลีชีพที่นั่น ต่อมาสามปีให้หลังเมื่อสองแคว้นสงบศึกกันแล้วจึงมีการจัดพิธีศพให้แต่กษัตริย์ฉู่หวยหวาง และแม้ว่ากษัตริย์ฉู่หวยหวางจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด แต่ในช่วงที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้นได้แสดงถึงความกล้าหาญยอมหักไม่ยอมงอ บทกวีนี้จึงถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงจิตวิญญาณอันหาญกล้าของผู้ที่พลีชีพในต่างแดนเพื่อแผ่นดินเกิด และวลี ‘ดวงวิญญาณจงกลับมา’ ได้ถูกนำมาใช้ในสุนทรพจน์สดุดีทหารจีนในงานพิธีฝังศพทหารอาสาสมัครจีนชุดที่ 8 จำนวน 109 นายที่พลีชีพในสงครามเกาหลีเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้วและเพิ่งได้รับการส่งคืนจากเกาหลีใต้ในเดือนกันยายน 2021 มันเป็นสุนทรพจน์ของนายซุนส้าวเฉิงในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการทหารผ่านศึก (Ministry of Veteran Affairs) ในสมัยนั้น โดยประโยคเต็ม ‘ดวงวิญญาณจงกลับมา อย่าได้โศกเศร้าไปชั่วนิรันดร์’ นี้คือประโยคจบของสุนทรพจน์ (รูปประกอบ2) บทสุนทรพจน์ดังกล่าวยาวและใช้ทักษะภาษาชั้นสูงถ้อยคำงดงาม ใจความโดยสรุปคือยกย่องเหล่าทหารอาสาสมัครที่ออกไปร่วบรบเพื่อเสถียรภาพของสาธารณรัฐจีนที่เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นใหม่ สดุดีความกล้าหาญของพวกเขาที่ต้องเผชิญหน้าคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธสงครามที่ร้ายกาจ สุดท้ายพลีชีพอยู่ต่างแดนไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเกิดจวบจนวันนี้ ขอให้เหล่าดวงวิญญาณกลับมาสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของประชาชนที่รักเขาและยังไม่ลืมความเสียสละของพวกเขา ได้กลับมาเห็นความเจริญเข้มแข็งของประเทศที่เขาพลีกายปกปักษ์รักษา ขอเหล่าวิญญาณผู้กล้าจงกลับคืนสู่มาตุภูมิ กลับมาสู่ความสงบ ไม่ต้องเจ็บช้ำหรือโศกเศร้าอีกต่อไป สุนทรพจน์นี้ได้รับการยกย่องด้วยภาษาที่งดงามและความหมายลึกซึ้งกินใจ ไม่เพียงสดุดีความกล้าหาญ แต่ยังกระตุ้นอารมณ์รักและเคารพในผู้ฟังอีกด้วย และประโยคนี้เป็นคำพูดในยุคจีนปัจจุบันที่สะท้อนวัฒนธรรมที่สั่งสมผ่านกาลเวลาจากวลีจีนโบราณ กลายมาเป็นอีกประโยคหนึ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์จีน (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://www.sohu.com/a/584621129_114988 http://www.81.cn/tp_207717/10086482.html https://mgronline.com/china/detail/9670000114488 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: http://m.shangshiwen.com/71990.html https://www.gushiwen.cn/mingju_991.aspx https://baike.baidu.com/item/招魂/8176058 http://www.81.cn/tp_207717/10086482.html #ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก #เรียกดวงวิญญาณ #ชวีหยวน #ทหารอาสาสมัครจีน #สาระจีน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 764 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    สวัสดีค่ะ วันนี้มาคุยกันเกี่ยวกับเรื่อง <พสุธารักเคียงใจ> ซึ่งมีชื่อภาษาจีนคือ ‘เล่อโหยวหยวน’ (乐游原) เล่อโหยวหยวน (แปลตรงตัวว่า สุข+ทัศนาจร+ดินแดน/ทุ่ง) จริงแล้วมีมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก แต่เดิมชื่อว่า ‘เล่อโหยวย่วน’ (乐游苑 / สุข+ทัศนาจร+สวน/อุทยาน) เป็นสถานที่เสด็จประพาสต้นที่ชื่นชอบขององค์ฮั่นเซวียนตี้ (ปี 51-48 ก่อนคริสตกาล) และฮองเฮาสวี่ ต่อมาฮั่นเซวียนตี้ทรงโปรดให้ฝังฮองเฮาสวี่ที่นั่น ครั้นกาลเวลาผ่านไปอักษรท้ายถูกเรียกเพี้ยนจาก ‘ย่วน’ เป็น ‘หยวน’ จนกลายมาเป็นชื่อของอุทยานเล่อโหยวหยวนตราบจนปัจจุบัน และบางครั้งถูกใช้เป็นคำกริยาที่บรรยายถึงการท่องเที่ยวอย่างเบิกบานใจ ในตอนต้นๆ เรื่อง <พสุธารักเคียงใจ> มีฉากหนึ่งที่พระเอกนางเอกนั่งเรือชมดาวในเทศกาลชีซี (ปัจจุบันเรามักเรียกเป็นวันวาเลนไทน์จีน) พระเอกเล่าถึงว่า ตอนเด็กตนเองอยู่แต่ในเมืองหลวง มักขี่ม้าขึ้นไปเที่ยวเล่อโหยวหยวน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในเมืองหลวง มีภูมิประเทศสูง มองลงมาเห็นทั้งเมืองหลวงได้ เรื่อง <พสุธารักเคียงใจ> นี้เล่าถึงรัชสมัยสมมุติ แต่ฉากหลังนั้นใกล้เคียงกับสมัยถังตอนปลาย และเล่อโหยวหยวนนี้เป็นสถานที่ฮอตฮิตในสมัยถังสำหรับการท่องเที่ยวและเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของเหล่ากวี มีบทกวีไม่น้อยที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อบรรยายถึงความงดงามของทัศนียภาพบนนั้น เล่อโหยวหยวนเป็นอุทยานบนเขาตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครฉางอัน ซึ่งปัจจุบันก็คือเมืองซีอาน (คือจุดที่วงสีเขียวไว้ในภาพประกอบ) รูปแผนที่ที่แปะมาให้ดูอาจจะละลานตาสักนิด เพราะเป็นแผนที่ภูมิประเทศที่มีระบุเส้นชั้นความสูง เพื่อให้เห็นว่าบริเวณนั้นของนครฉางอันเป็นเนินเขา ที่นี่เป็นจุดที่สูงที่สุดของนครฉางอัน มองลงมาสามารถมองเห็นทั่วนครฉางอันได้ ในสมัยราชวงศ์สุยมีการสร้างวัดขึ้นที่นี่ชื่อวัดหลินก่าน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชิงหลง ปัจจุบันนับเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวดังของเมืองซีอัน และเป็นวัดที่ถูกกล่าวถึงบ่อยในละครจีนโบราณ อนึ่ง เล่อโหยวหยวนเคยถูกกล่าวถึงในเรื่อง <ฉางอันสิบสองชั่วยาม> แต่ Storyฯ จำเรื่องราวไม่ได้แล้ว เพื่อนเพจท่านใดจำได้มาเม้นท์บอกกันหน่อยว่าในเรื่องนี้มีเล่ารายละเอียดอะไรเกี่ยวกับเล่อโหยวหยวนหรือไม่ ในฉากเดียวกันของเรื่อง <พสุธารักเคียงใจ> ที่กล่าวถึงนี้ นางเอกได้ยินพระเอกเล่าเรื่องเล่อโหยวหยวนก็เกิดแรงบันดาลใจ ร่ายกลอนออกมาบทหนึ่ง มีใจความว่า บนเขาเล่อโหยวหยวนมีลมตะวันตกพัดผ่าน มีธรรมชาติงดงามทั้งหมู่ไม้เสียงจักจั่นและแสงรุ้ง องค์สุริยเทพทรงขี่รถม้าไปเรื่อยๆ ไม่ยอมให้ตะวันตกดินและไม่ยอมให้ตะวันหันกลับไปทางทิศตะวันออก บทกวีนี้บรรยายความงามของวิวบนเล่อโหยวหยวนประหนึ่งว่าความงามนั้นสามารถสะกดให้เวลาหยุดอยู่กับที่ กลอนบทนี้มีชื่อว่า ‘เล่อโหยวหยวน’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับชื่อภาษาจีนของซีรีส์เรื่องนี้ เป็นกลอนเจ็ด (กล่าวคือมีเจ็ดอักษรในหนึ่งวรรค) มีทั้งหมดสี่วรรค มันเป็นผลงานของหลี่ซังอิ่น (ปีค.ศ. 813-858) หนึ่งในกวีที่เลื่องชื่อของสมัยถังตอนปลาย มีผลงานที่สืบทอดมาจวบจนปัจจุบันกว่า 600 บทกวี เขาเข้ารับราชการเมื่ออายุยี่สิบห้า ต่อมาสังกัดเจี๋ยตู้สื่อหวางเม่าหยวน และได้รับการโปรดปรานจากหวางเม่าหยวนถึงขนาดยกลูกสาวให้ จึงถูกลากเข้าไปพัวพันกับการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง บทกวีนี้มักถูกเข้าใจสลับกับบทกวีอีกบทที่โด่งดังมากกว่าของเขา มีชื่อว่า ‘เติงเล่อโหยวหยวน’ (登乐游原 / ขึ้นเขาเล่อโหยวหยวน) ซึ่งต่อมาถูกเรียกเป็น ‘เล่อโหยวหยวน’ เช่นกัน โดย ‘เติงเล่อโหยวหยวน’ เป็นกลอนห้า (อักษรห้าตัวในหนึ่งวรรค) มีสี่วรรคเช่นกัน กลอนบทนี้บรรยายถึงความงามของอาทิตย์อัสดงบนเล่อโหยวหยวนและพรรณนาความเสียดายที่ไม่อาจหยุดยั้งแสงอาทิตย์ไว้ได้ ถูกตีความกันต่อมาว่าความนัยแฝงคือความอาลัยและความอาดูรในสถานการณ์ของราชวงศ์ถังที่เสื่อมอำนาจลง โดยมีวรรคที่ฮอตฮิตคือ ‘ตะวันยอแสงงามไร้ขอบเขต แต่เสียดายใกล้อาทิตย์อัสดง’ (夕阳无限好,只是近黄昏 / ซีหยางอู๋เซี่ยนห่าว จื่อซื่อจิ้นหวงฮุน) เป็นการเปรียบเปรยถึงความไม่จีรังของชีวิต Storyฯ ยังดูซีรีส์เรื่อง <พสุธารักเคียงใจ> ไม่จบ ไม่อาจกล่าวได้ว่ากลอนบทใดข้างต้น (หรือทั้งสองบท) มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องมากน้อยเพียงใด เพื่อนเพจท่านใดที่ดูจบแล้วมีความเห็นความรู้สึกอย่างใดก็เชิญมาเล่าสู่กันฟังนะคะ (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจาก: https://www.dianyingbaodian.com/wiki/乐游原_%282023%29 https://www.sohu.com/a/390828068_120445432 https://www.sgss8.net/tpdq/21096094/2.htm Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://shici.yw11.com/shici_fanyi_2987_250.html https://www.shicile.com/detail/6070192050078 https://www.sohu.com/a/680570874_121124391 #พสุธารักเคียงใจ #ทุ่งเล่อโหยว #เล่อโหยวหยวน #กวีถัง #หลีซังอิ่น #วัดชิงหลง #นครฉางอัน #ซีอัน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 697 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    สวัสดีค่ะ สัปดาห์ที่แล้ว Storyฯ คุยถึงฉากหนึ่งใน <พสุธารักเคียงใจ> ที่พระนางนั่งเรือชมดาวกัน ความตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่องบทกวีที่นางเอกกล่าวในฉากนี้ ซึ่งหลังจากนั้นพระเอกบอกว่ามีอีกบทกวีที่เขาชอบมากกว่า โดยนางเอกชิงท่องบทกวีดังกล่าวออกมาก่อน เป็นนัยว่าบทกวีบทนี้บ่งบอกความเป็นตัวตนของพระเอก เชื่อว่ามีเพื่อนเพจหลายคนที่คงงงเหมือนกับ Storyฯ ว่าเขาคุยอะไรกัน “หญ้าเขียวชอุ่มบนทุ่ง หนึ่งปีเหี่ยวเฉาสลับขึ้นใหม่ ไฟป่าเผาไม่มอด ลมวสันต์โชยก็งอกงามอีก” - บทแปลจากซับไทย <พสุธารักเคียงใจ> บทกวีนี้มีชื่อว่า ‘ฟู่เต๋อกู่หยวนเฉ่าซ่งเปี๋ย’ (赋得古原草送别) โดยคำว่า ‘ฟู่เต๋อ’ นั้น เป็นการเรียกนำหน้าบทกวีที่แต่งเติมจากวลีหรือวรรคจากบทประพันธ์โบราณ ต่อมาใช้เป็นกติกาในการสอบขุนนางว่า หากจะเขียนบทกวีที่มียกวรรคมาจากบทประพันธ์โบราณให้ใช้คำนำหน้าชื่อบทกวีนั้นว่า ‘ฟู่เต๋อ’ ส่วนคำว่า ‘กู่หยวนเฉ่า’ นั้นแปลตรงตัวว่าทุ่งหญ้าโบราณ แต่ในบทกวีโบราณมักถูกใช้แทนคำเรียก ‘เล่อโหยวหยวน’ ซึ่งเป็นอุทยานบนเขาในนครฉางอันที่เราคุยกันไปในสัปดาห์ที่แล้ว และคำว่า ‘ซ่งเปี๋ย’ คือการอำลาหรือส่งคนเดินทางจากไป ดังนั้น ชื่อของบทกวีนี้แปลได้ใจความว่า ‘บทอำลาบนเล่อโหยวหยวน’ บทกวีนี้เป็นผลงานของกวีเอกและนักการเมืองชื่อดังในยุคช่วงปลายของราชวงศ์ถังคือ ไป๋จวีอี (ปีค.ศ. 772-846) จริงแล้วมีทั้งหมดแปดวรรค แต่ในซีรีส์กล่าวถึงเพียงสี่วรรค ซึ่งสี่วรรคหลังที่ไม่ได้กล่าวถึงนั้น Storyฯ ขอแปลและเรียบเรียงว่า ปลายทางอันไกลโพ้น ทุ่งเขียวจรดเมืองอ้างว้าง ส่งลาราชนัดดาอีกครา ทุ่งขจีแฝงความอาดูร (หมายเหตุ คำว่า ‘ราชนัดดา’ นั้นในบทกวีโบราณอาจแปลได้เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลอันสูงส่ง และในบริบทของบทกวีนี้มีการแปลไว้ว่าหมายถึงสหายสนิท) จะเห็นว่า บทกวีนี้แรกเริ่มสี่วรรคกล่าวถึงความงามของทุ่งหญ้าที่สะท้อนถึงความไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค แต่ในสี่วรรคหลัง ความงามนี้แปรเปลี่ยนเป็นความอ้างว้างเมื่อต้องอำลาจากกัน เมื่อมีชื่อนำหน้าว่า ‘ฟู่เต๋อ’ บทกวีนี้ต้องมีความเกี่ยวข้องกับการสอบขุนนางและมีวลีที่อ้างอิงมาจากบทกวีโบราณ... บทกวีนี้ไป๋จวีอีประพันธ์ขึ้นเมื่อครั้งเขาเข้าร่วมสอบขุนนางหลวง และบทกวีโบราณที่อ้างอิงนั้นคือบทกวีสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกมีชื่อว่า ‘จาวอิ่นซื่อ’ (招隐士) มีใจความชักจูงให้เหล่าเชื้อสายตระกูลสูงส่ง (คือความหมายของ ‘ราชนัดดา’ ในที่นี้) ที่หลบซ่อนกันอยู่นอกเมืองพากันกลับมารับใช้ราชสำนัก โดยวรรคที่ไป๋จวีอีอ้างอิงนั้นมาจากวรรคที่ว่า ‘ราชนัดดาเดินทางไปไม่กลับ หญ้าวสันต์งอกเงยเขียวขจี’ ที่ใช้ความงามของทุ่งหญ้าบ่งบอกความอ้างว้างหากเหล่าผู้มีการศึกษามีความสามารถต่างพากันทิ้งราชสำนักไป ปัจจุบันสี่วรรคแรกของบทกวีนี้ถูกนำมาใช้รวมในการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากภาษาไพเราะและมีใจความเป็นแรงบันดาลใจให้ฟันฝ่าอุปสรรค แต่สี่วรรคหลังถูกละไว้ เนื่องจากใจความหดหู่รันทดเกินไปสำหรับเด็ก และวรรคที่ว่า ‘ไฟป่าเผาไม่มอด ลมวสันต์โชยก็งอกงามอีก’ (野火烧不尽 春风吹又生) กลายเป็นอีกหนึ่งวลียอดนิยมจวบจนปัจจุบัน ดังนั้น สรุปสั้นๆ ได้ว่า บทกวีที่นางเอกกล่าวว่าสะท้อนถึงอุปนิสัยของพระเอกนั้น คือบ่งบอกถึงความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ล้มแล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ เพื่อนเพจคิดว่าตรงไหมคะ (ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory) Credit รูปภาพจากในละคร Credit ข้อมูลรวบรวมจาก: https://www.zdic.net/hans/%E8%B5%8B%E5%BE%97 https://www.sohu.com/a/708520507_389451 https://www.kekeshici.com/shicimingju/ticai/jingse/998.html https://baike.baidu.com/item/赋得古原草送别/2873148 https://baike.baidu.com/item/招隐士/1905316 #พสุธารักเคียงใจ #กวีถัง #ไป๋จวีอี #เล่อโหยวหยวน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 523 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    https://www.youtube.com/watch?v=6ZsoYrzGq58 บทสนทนาวันคริสต์มาส (คลิกอ่านเพิ่มเติม เพื่ออ่านบทสนทนาภาษาอังกฤษและไทย และคำศัพท์น่ารู้) แบบทดสอบการฟังภาษาอังกฤษ จากบทสนทนาวันคริสต์มาส มีคำถาม 5 ข้อหลังฟังเสร็จ เพื่อทดสอบการฟังภาษาอังกฤษของคุณ #บทสนทนาภาษาอังกฤษ #ฝึกฟังภาษาอังกฤษ #คริสต์มาส The conversations from the clip : Alice: Hi, Ben! Christmas is coming soon. Do you know much about the history of Santa Claus? Ben: Hey, Alice! A little bit. Santa Claus is based on Saint Nicholas, right? Alice: That’s right! He was a kind man who gave gifts to the poor, especially children. Ben: I heard he was a bishop from what is now Turkey. Is that true? Alice: Yes, exactly. Over time, his story spread to other countries, and he became a symbol of generosity. Ben: But how did Saint Nicholas turn into Santa Claus? Alice: The modern version of Santa came from Dutch settlers in America. They called him "Sinterklaas." Ben: Oh, so that’s where the name Santa Claus came from! What about his red suit? Alice: The red suit became popular in the 19th century, thanks to illustrations by Thomas Nast and later Coca-Cola ads. Ben: I see. And the reindeer and sleigh? Alice: Those came from a poem called A Visit from St. Nicholas, also known as 'Twas the Night Before Christmas. Ben: That’s fascinating! What about Christmas traditions? Alice: People exchange gifts, decorate Christmas trees, and sing carols. Each culture has unique traditions too. Ben: I love the idea of spreading joy and spending time with family during Christmas. Alice: Me too! It’s also a time to reflect on kindness and generosity, just like Saint Nicholas. Ben: Absolutely. By the way, have you decorated your house yet? Alice: Not yet, but I’m planning to this weekend. อลิซ: สวัสดี เบ็น! คริสต์มาสใกล้จะมาถึงแล้ว คุณรู้เรื่องประวัติของซานตาคลอสบ้างไหม? เบ็น: เฮ้ อลิซ! นิดหน่อยนะ ซานตาคลอสมีต้นแบบมาจากนักบุญนิโคลัส ใช่ไหม? อลิซ: ใช่เลย! เขาเป็นคนใจดีที่มอบของขวัญให้คนยากจน โดยเฉพาะเด็กๆ เบ็น: ฉันได้ยินมาว่าเขาเป็นบิชอปจากพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศตุรกี จริงหรือเปล่า? อลิซ: ใช่เลย ถูกต้อง! เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวของเขาก็แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ และเขาก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเอื้ออาทร เบ็น: แล้วนักบุญนิโคลัสกลายมาเป็นซานตาคลอสได้ยังไง? อลิซ: เวอร์ชันสมัยใหม่ของซานตามาจากผู้ตั้งถิ่นฐานชาวดัตช์ในอเมริกา พวกเขาเรียกเขาว่า "ซินเตอร์คลาส" เบ็น: โอ้ งั้นชื่อ "ซานตาคลอส" ก็มาจากตรงนี้นี่เอง! แล้วชุดสีแดงล่ะ? อลิซ: ชุดสีแดงกลายเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 19 จากภาพวาดของโธมัส แนสต์ และโฆษณาของโคคา-โคลาในภายหลัง เบ็น: เข้าใจแล้ว แล้วพวกกวางเรนเดียร์กับรถเลื่อนล่ะ? อลิซ: นั่นมาจากบทกวีชื่อ A Visit from St. Nicholas หรือที่รู้จักกันว่า 'Twas the Night Before Christmas เบ็น: น่าสนใจมาก! แล้วเกี่ยวกับประเพณีคริสต์มาสล่ะ? อลิซ: ผู้คนแลกเปลี่ยนของขวัญ ตกแต่งต้นคริสต์มาส และร้องเพลงคริสต์มาส แต่ละวัฒนธรรมก็มีประเพณีเฉพาะตัวด้วยนะ เบ็น: ฉันชอบความคิดในการแพร่กระจายความสุขและการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวในช่วงคริสต์มาสมาก อลิซ: ฉันก็เหมือนกัน! นี่ก็เป็นเวลาที่จะคิดถึงความใจดีและความเอื้ออาทร เหมือนอย่างนักบุญนิโคลัส เบ็น: เห็นด้วยเลย แล้วบ้านคุณตกแต่งหรือยัง? อลิซ: ยังเลย แต่ฉันวางแผนจะทำสุดสัปดาห์นี้ Vocabulary (คำศัพท์น่ารู้) History (ฮิส-โท-รี) n. แปลว่า ประวัติศาสตร์ Generosity (เจน-เนอ-รอส-ซิ-ที) n. แปลว่า ความเอื้อเฟื้อ Symbol (ซิม-เบิล) n. แปลว่า สัญลักษณ์ Settlers (เซท-เลอร์ส) n. แปลว่า ผู้ตั้งถิ่นฐาน Illustrations (อิล-ลัส-เทร-ชั่นส์) n. แปลว่า ภาพประกอบ Advertisement (แอด-เวอร์-ไทซ์-เมินท์) n. แปลว่า โฆษณา Poem (โพ-เอม) n. แปลว่า บทกวี Traditions (ทรา-ดิ-ชั่นส์) n. แปลว่า ขนบธรรมเนียม Decorate (เดค-คะ-เรท) v. แปลว่า ตกแต่ง Reflect (รี-เฟล็คท์) v. แปลว่า สะท้อน Kindness (ไคน์-เนส) n. แปลว่า ความเมตตา Unique (ยู-นีค) adj. แปลว่า เป็นเอกลักษณ์ Spread (สเปรด) v. แปลว่า แพร่กระจาย Joy (จอย) n. แปลว่า ความสุข Fascinating (แฟส-ซิ-เน-ทิง) adj. แปลว่า น่าหลงใหล
    Love
    1
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 733 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    สวัสดีค่ะ สัปดาห์ที่แล้วคุยกันถึงเรื่อง <ทำนองรักกังวานแดนดิน> ที่มีช่วงหนึ่งพระนางต้องไปสืบคดีที่เมืองกานหนานเต้าและได้พบกันพานฉือ มีฉากหนึ่งที่พานฉือนั่งดื่มสุราดับทุกข์และเหยียนซิ่งมาปลอบโดยกล่าวถึงบทความหนึ่งของพานฉือที่เคยโด่งดังในแวดวงผู้มีการศึกษา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบัณฑิตที่ไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วบทความที่เหยียนซิ่งกล่าวถึงนี้เป็นการยกเอาวรรคเด็ดจากหลายบทกวีโบราณมายำรวมกัน สัปดาห์ที่แล้วคุยกันไปประโยคหนึ่ง วันนี้มาคุยต่อ ซึ่งคือบทพูดยาวที่เหยียนซิ่งกล่าวว่า “ผู้สูงศักดิ์แม้มองตนสูงค่า กลับต่ำต้อยเยี่ยงธุลีดิน คนต่ำต้อยแม้ด้อยค่าตนเอง ทว่าน้ำหนักดุจพันจวิน”(贵者虽自贵,视之若埃尘。贱者虽自贱,重之若千钧。) (หมายเหตุ Storyฯ แปลเองจ้า)ทั้งนี้ ‘จวิน’ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักในสมัยโบราณ เทียบเท่าประมาณสิบห้ากิโลกรัม และ ‘พันจวิน’ เป็นการอุปมาอุปมัยว่าน้ำหนักมากมีค่ามากยิ่งนักวลีสี่วรรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทกวีบทที่หกจากชุดบทกวีแปดบท ‘หยงสื่อปาโส่ว’ (咏史八首) ของจั่วซือ (ค.ศ. 250-305) นักประพันธ์เลื่องชื่อในสมัยจิ้นตะวันตกจั่วซือมาจากครอบครัวขุนนางเก่าแก่แต่บิดาไม่ได้มีตำแหน่งสูงนัก เรียกได้ว่าเป็นคนจากตระกูล ‘หานเหมิน’ ซึ่งก็คือครอบครัวขุนนางเก่าหรือขุนนางชั้นล่างที่ไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจทางการเมือง (หมายเหตุ Storyฯ เคยเขียนอธิบายถึงหานเหมินไปแล้ว ลองย้อนอ่านทำความเข้าใจได้ที่ https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/pfbid02irzPP9WVBtk8DXM6MFwphMu3ngFyjoz511zYfX8rWt8zHjHrFvk2ZwRiPXWuVWUal)ในช่วงที่จิ้นอู่ตี้ (ซือหม่าเหยียน ปฐมกษัตรย์แห่งราชวงศ์จิ้น) เกณฑ์สตรีจากครอบครัวขุนนางระดับกลางถึงระดับบนเข้าวังเป็นนางในเป็นจำนวนมากนั้น น้องสาวของจั่วซือก็ถูกเกณฑ์เข้าวังเป็นสนมเช่นกัน เขาเลยย้ายเข้าเมืองหลวงลั่วหยางพร้อมครอบครัวและพยายามหาหนทางเข้ารับราชการแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และเขาพบว่ามีความฟอนเฟะในระบบราชการไม่น้อย ต่อมาเขาใช้เวลาสิบปีประพันธ์บทความที่เรียกว่า ‘ซานตูฟู่’ (三都赋/บทประพันธ์สามนคร) โดยยกตัวอย่างของแต่ละเมืองในบทความเพื่อสะท้อนแนวคิดและหลักการบริหารบ้านเมือง ต่อมาบทความนี้ได้รับการยอมรับอย่างมากมายจนในที่สุดจั่วซือได้เข้ารับราชการเป็นบรรณารักษ์แห่งหอพระสมุดว่ากันว่ากวีแปดบทนี้เป็นผลงานช่วงแรกที่เขาเข้ามาลั่วหยางและพบทางตันในการพยายามเป็นขุนนางจนรู้สึกท้อแท้และอัดอั้นตันใจ เป็นชุดบทกวีที่สะท้อนให้เห็นสภาวะทางสังคม อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และความคับแค้นใจของผู้ที่มาจากตระกูล ‘หานเหมิน’ ในยุคสมัยที่ไม่มีการสอบราชบัณฑิต โดยบทกวีแต่ละบทเป็นการยืมเรื่องในประวัติศาสตร์มาเล่าในเชิงยกย่องสรรเสริญและบทกวีบทที่หกนี้ เป็นการสรรเสริญ ‘จิงเคอ’ ซึ่งก็คือหนึ่งในมือสังหารที่มีชื่อที่สุดของจีน ถูกส่งไปลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ในช่วงก่อนรวบรวมแผ่นดินเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันสำเร็จ (คือต้นแบบของนักฆ่านิรนาม ‘อู๋หมิง’ ในภาพยนต์เรื่อง <Hero> ปี 2002 ของจางอี้โหมวที่เพื่อนเพจบางท่านอาจเคยได้ดู) ซึ่งการลอบสังหารนั้นอยู่บนความเชื่อที่ว่ากษัตริย์แคว้นฉิ๋นโหดเหี้ยมบ้าอำนาจคิดกวาดล้างทำลายแคว้นอื่น จะทำให้ผู้คนล้มตายบ้านแตกสาแหรกขาดอีกไม่น้อย บทกวีบทที่หกนี้สรุปใจความได้ประมาณว่า จิงเคอร่ำสุราสำราญใจอย่างไม่แคร์ผู้ใด อุปนิสัยใจกล้าองอาจ เป็นคนที่มีเอกลักษณ์ไม่อาจมองข้าม แม้ไม่ใช่คนจากสังคมชั้นสูงแต่กลับมีคุณค่ามากมายเพราะสละชีพเพื่อผองชน และในสายตาของจิงเคอแล้วนั้น พวกตระกูลขุนนางชั้นสูงไม่มีคุณค่าใด บทกวีนี้จึงไม่เพียงสรรเสริญจิงเคอหากยังเสียดสีถึงคนจากสังคมชั้นสูงในสมัยนั้นอีกด้วย“ผู้สูงศักดิ์แม้มองตนสูงค่า กลับต่ำต้อยเยี่ยงธุลีดิน คนต่ำต้อยแม้ด้อยค่าตนเอง ทว่าน้ำหนักดุจพันจวิน” วลีสี่วรรคนี้ที่เหยียนซิ่งกล่าวในเรื่อง <ทำนองรักกังวานแดนดิน> โดยในซีรีส์สมมุติไว้ว่านี่เป็นประโยคที่พานฉือแต่งขึ้น จึงเป็นการเท้าความถึงตอนที่พานฉือเดินทางเข้ากรุงใหม่ๆ ยังเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และความเชื่อมั่นอันแรงกล้า และเป็นการปลอบใจให้พานฉืออย่าได้ท้อใจในอุปสรรคที่ได้พบเจอ เพราะคุณค่าของคนอยู่ที่ตนเอง ไม่ใช่จากพื้นเพชาติตระกูล(ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory)Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://www.ifensi.com/index.php?m=home&c=View&a=index&aid=4545http://zhld.com/zkwb/html/2017-04/21/content_7602721.htm Credit ข้อมูลรวบรวมจาก:http://zhld.com/zkwb/html/2017-04/21/content_7602721.htm https://m.guoxuedashi.net/shici/81367k.html https://www.gushiwen.cn/mingju/juv_d4a0651f3a21.aspxhttps://baike.baidu.com/item/左思/582418 #ทำนองรักกังวานแดนดิน #วลีจีน #จั่วซือ #บทกวีจีนโบราณ #จิงเคอ #สาระจีน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 721 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    สวัสดีค่ะ สัปดาห์ที่แล้วคุยกันถึงเรื่อง <ทำนองรักกังวานแดนดิน> ที่มีช่วงหนึ่งพระนางต้องไปสืบคดีที่เมืองกานหนานเต้าและได้พบกันพานฉือ มีฉากหนึ่งที่พานฉือนั่งดื่มสุราดับทุกข์และเหยียนซิ่งมาปลอบโดยกล่าวถึงบทความหนึ่งของพานฉือที่เคยโด่งดังในแวดวงผู้มีการศึกษา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบัณฑิตที่ไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางใหญ่ Storyฯ เคยเกริ่นไว้ว่าจริงๆ แล้วบทความที่เหยียนซิ่งกล่าวถึงนี้เป็นการยกเอาวรรคเด็ดจากหลายบทกวีโบราณมายำรวมกัน วันนี้มาเล่าให้ฟังค่ะเราคุยกันวันนี้ถึงประโยคแรกที่เหยียนซิ่งกล่าว ซึ่งก็คือ “แหงนมองฟ้าหัวร่อร่าก้าวออกไป เดินขึ้นสูงสู่เสินโจว” (หมายเหตุ Storyฯ แปลเองจ้า) ซึ่งวรรคแรกของประโยคนี้ยกมาจากบทกวีโบราณ ความเดิมคือ ‘แหงนมองฟ้าหัวร่อร่าก้าวออกไป ข้าพเจ้าหาใช่ชาวป่าเขา’ (仰天大笑出门去,我辈岂是蓬蒿人)/ หยางเทียนต้าเซี่ยวชูเหมินชวี่ อั่วเป้ยฉี่ซื่อเผิงฮาวเหริน) โดยคำว่า ‘ชาวป่าเขา’ ในที่นี่เป็นการอุปมาอุปมัยถึงคนที่ไม่ได้รับราชการหรือชาวบ้านธรรมดา และบทกวีนี้คือ ‘หนานหลิงเปี๋ยเอ๋อร์ถงรู่จิง’ (南陵别儿童入京 แปลได้ประมาณว่า อำลาเด็กๆ จากหนานหลิงเข้าเมืองหลวง) เป็นบทประพันธ์ของหลี่ไป๋ กวีเอกสมัยถังที่ได้รับการยกย่องเป็น ‘เซียนกวี’ตอนที่หลี่ไป๋แต่งกลอนบทนี้ เขามีอายุประมาณสี่สิบสองปี (ค.ศ. 742) ชีวิตผ่านอะไรมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการมีชื่อเสียงตั้งแต่วัยเยาว์ การเดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปทั่ว การใช้ชีวิตในแวดวงขุนนางและบัณฑิตแต่ไม่ได้เข้ารับราชการตามที่หวัง ชีวิตตกต่ำออกเร่ร่อนและหลบไปใช้ชีวิตทำนาอยู่ตามป่าเขา แต่ตลอดเวลาเขาไม่เคยลืมอุดมการณ์ที่จะเข้ารับราชการเพราะเขามีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในความรู้ของตัวเอง และเชื่อว่าด้วยสติปัญญาความรู้ที่มีจะสามารถทำให้บ้านเมืองเจริญยิ่งขึ้นได้ แม้ตัวไม่อยู่ในเมืองหลวงแต่เขาไม่เคยขาดความพยายามที่จะส่งบทความให้ถึงมือของบุคคลสำคัญหลายคนโดยหวังที่จะกรุยทางให้เข้ารับราชการได้เรามักได้ยินเกี่ยวกับบทกวีของหลี่ไป๋ที่บรรยายธรรมชาติสวยงาม แต่จริงๆ แล้วหลี่ไป๋ประพันธ์บทกลอนและบทความไม่น้อยเกี่ยวกับหลักการปกครองและการบริหารบ้านเมือง โดยสอดแทรกปัญหาสังคมที่ตนได้ซึมซับมาจากการที่ได้เคยเดินทางไปหลากหลายพื้นที่และจากการได้คลุกคลีอยู่ในหลายแวดวงสังคมและหลังจากชีวิตผ่านไปอย่างขึ้นๆ ลงๆ ในที่สุดหลี่ไป๋ในวัยสี่สิบสองปีก็ได้รับพระราชโองการให้เดินทางไปเมืองหลวงเข้าเฝ้าฮ่องเต้ถังเสวียนจง และเมื่อเขาได้เข้าเฝ้าก็สามารถโต้ตอบคำถามจากฮ่องเต้ได้อย่างฉะฉาน ทั้งด้วยสำนวนคมคายและความรู้จากตำราและสิ่งที่ได้พบเห็นมา จึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นขุนนางสังกัดสำนักหลวงฮั่นหลิน ต่อมาติดสอยห้อยตามใกล้ชิดและเป็นที่โปรดปรานขององค์ฮ่องเต้ ทว่าชีวิตทางการเมืองของหลี่ไป๋ไม่ได้สวยงามตลอดรอดฝั่ง และคงจะกล่าวได้ว่า จุดนี้เป็นจุดที่รุ่งเรืองที่สุดของเขาแล้วดังนั้น บทกวี ‘หนานหลิงเปี๋ยเอ๋อร์ถงรู่จิง’ จึงสะท้อนถึงอารมณ์ดีใจและภาคภูมิใจของหลี่ไป๋ พร้อมกับความคาดหวังว่าในที่สุดตนจะได้เข้าเฝ้าองค์ฮ่องเต้ ได้เปล่งประกายความรู้ความสามารถของตนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน ความหมายเต็มๆ ของบทกลอนนี้คือกล่าวถึงบรรยากาศรื่นเริงของร่ำสุรากินมื้อใหญ่ มีเด็กๆ วิ่งเล่นห้อมล้อม ร้องรำทำเพลงกัน จากนั้นกล่าวถึงสภาพจิตใจของหลี่ไป๋ที่นึกย้อนถึงวันเวลาที่เสียไปโดยไม่ได้มีผลงานจริงจัง พร้อมกับความหวังว่าวันนี้อำลาบ้านนอกเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่ออุดมการณ์ และประโยคสุดท้ายแฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองว่า ‘ฉันก็มีดีนะ’ และวลีนี้ถูกยกย่องให้เป็นอีกหนึ่ง ‘วลีเด็ด’ จากวรรณกรรมจีนโบราณดังนั้น การที่เหยียนซิ่งยกวลี ‘แหงนมองฟ้าหัวร่อร่าก้าวออกไป’ นี้ขึ้นมาในเรื่อง <ทำนองรักกังวานแดนดิน> โดยในซีรีส์สมมุติไว้ว่านี่เป็นประโยคที่พานฉือแต่งขึ้น จึงเป็นการเท้าความถึงตอนที่พานฉือเดินทางเข้ากรุงใหม่ๆ ยังเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และความเชื่อมั่นอันแรงกล้า และเป็นการปลอบใจให้พานฉือรู้ว่า ตราบใดที่มีความรู้ความสามารถ ขอเพียงกล้าที่จะแสดงออกไป ย่อมมีคนเห็นคุณค่า สัปดาห์มาคุยกันต่อกับประโยคที่เหลือของเหยียนซิ่งค่ะ(ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory)Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://www.ifensi.com/index.php?m=home&c=View&a=index&aid=4545 https://www.sohu.com/a/327753644_100030261 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก:https://ww.gushiju.net/ju/96744https://dugushici.com/mingju/9382https://baike.baidu.com/item/李白/1043 #ทำนองรักกังวานแดนดิน #วลีจีน #หลี่ไป๋ #สาระจีน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 693 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    หานเหมิน ตระกูลขุนนาง 'ชั้นสอง' สวัสดีค่ะ เพื่อนเพจที่ได้ดู <ทำนองรักกังวานแดนดิน> คงจำได้ว่ามีช่วงหนึ่งที่พระนางต้องไปสืบคดีที่เมืองกานหนานเต้าและได้พบกันพานฉือ มีฉากหนึ่งที่พานฉือนั่งดื่มสุราดับทุกข์และเหยียนซิ่งมาปลอบโดยกล่าวถึงบทความหนึ่งของพานฉือที่เคยโด่งดังในแวดวงผู้มีการศึกษา และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าบัณฑิตที่ไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางใหญ่หรือที่เรียกว่า ‘หานเหมิน’ (寒门) จริงๆ แล้วบทความที่เหยียนซิ่นกล่าวถึงนี้เป็นการยกเอาวรรคเด็ดจากหลายบทกวีโบราณมายำรวมกัน ไว้ Storyฯ จะทยอยมาเล่าต่อ แต่ที่วันนี้จะคุยกันคือคำว่า ‘หานเหมิน’ นี้ปัจจุบันคำว่า ‘หานเหมิน’ หมายถึงคนที่มีฐานะยากจน (‘หาน’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าหนาวมากแต่หมายถึงแร้นแค้นยากจน และ ‘เหมิน’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าประตูแต่หมายถึงครอบครัวหรือตระกูล) และในหลายซีรีส์ที่มีการสอบราชบัณฑิตก็ดูจะสะท้อนถึงเหล่าบัณฑิตยากไร้ที่พยายามมาสอบเพื่อสร้างอนาคตให้กับตนเอง Storyฯ ไม่ได้ดูว่าละครซับไทยหรือพากย์ไทยแปลมันไว้ว่าอย่างไร แต่จริงๆ แล้ว ‘หานเหมิน’ ในบริบทจีนโบราณแรกเริ่มเลยไม่ได้หมายถึงคนจน เพราะคำว่า ‘เหมิน’ จะใช้เรียกตระกูลที่มีกำลังทรัพย์และอิทธิพลเท่านั้น ไม่ได้เรียกครอบครัวชาวบ้านธรรมดา เราลองมาดูกันสักสองตัวอย่างตัวอย่างแรกคือเผยเหวินเซวียน พระเอกจากเรื่อง <องค์หญิงใหญ่> ที่ถูกองค์หญิงหลี่หรงเรียกว่ามาจากตระกูล ‘หานเหมิน’ ซึ่งพื้นเพของเขาคือ มาจากตระกูลที่ไม่เคยมีรับตำแหน่งสูงเกินขั้นที่ห้า แต่ก็จัดเป็นตระกูลอยู่ดีกินดี (อนึ่ง ตำแหน่งขุนนางในอดีตเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไปตามยุคสมัยแต่โดยกรอบใหญ่การแบ่งขุนนางส่วนกลางเป็นเก้าขั้น หรือ ‘จิ๋วผิ่น’ (九品) มีมายาวนานร่วมสองพันปี) จวบจนบิดาได้เป็นถึงแม่ทัพใหญ่นำพาให้คนในตระกูลมีโอกาสย้ายเข้ามารับราชการอยู่ในเมืองหลวงอีกตัวอย่างหนึ่งคือพานฉือจากเรื่อง <ทำนองรักกังวานแดนดิน> ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีรายละเอียดในซีรีส์มากน้อยแค่ไหน แต่ในบทนิยายเดิมพื้นเพของเขาคือมาจากครอบครัวข้าราชการมีหน้ามีตาระดับท้องถิ่น บิดาเป็นผู้บัญชาการทหารระดับสูง จัดเป็นตระกูลที่อยู่ดีกินดี แต่เขาอยากเห็นคนที่ไม่ได้มีอิทธิพลหนุนหลังสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเข้าไปสู่ตำแหน่งขุนนางขั้นสูงของส่วนกลางได้โดยผ่านการสอบราชบัณฑิต เขาถูกเรียกว่ามาจาก ‘หานเหมิน’ เช่นกันจากสองตัวอย่างนี้ เพื่อนเพจคงพอเดาได้แล้วว่าความหมายดั้งเดิมของ ‘หานเหมิน’ หมายถึงตระกูลขุนนางที่อิทธิพลเสื่อมถอย ไม่ได้มีอำนาจผงาดอยู่ในราชสำนัก แต่ก็จัดเป็นตระกูลที่มีหน้ามีตาพอประมาณและมีอันจะกินพอที่ลูกหลานจะมีการศึกษาที่ดี ไม่ใช่คนยากจนสิ้นไร้ไม้ตอก หลายครั้งถูกมองว่าเป็นตระกูลขุนนาง 'ชั้นสอง' หรือ Tier 2แล้วตระกูลขุนนาง 'ชั้นหนึ่ง' หรือ Tier 1 คืออะไร? คำตอบคือ ‘สื้อเจีย’ (世家) ที่ Storyฯ เคยเขียนถึงเมื่อนานมาแล้ว (https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/373292221465743 และ https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/378258494302449) ซึ่งโดยสรุปคือหมายถึงตระกูลขุนนางระดับสูงอันเก่าแก่ คนในตระกูลรับตำแหน่งขุนนางระดับสูงถึงสูงที่สุดต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ตระกูลเหล่านี้มีอิทธิพลทางการเมืองสูง (และอิทธิพลทางสังคมด้านอื่นๆ ด้วย) และในสมัยโบราณตระกูลเหล่านี้สามารถยื่นฎีกาเสนอชื่อคนในตระกูลเข้ารับตำแหน่งขุนนางได้เลย ดังนั้นในสายตาของชาวสื้อเจียที่มียศอำนาจสูงมาตลอดแล้วนั้น คนจากหานเหมินจึงต่ำต้อยกว่าเพราะมีเพียงครั้งคราวที่มีโอกาสได้รับตำแหน่งใหญ่หรืออาจเป็นเพียงตระกูลที่ ‘เคยมี’ การสอบราชบัณฑิตจึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้มาจากตระกูลสื้อเจียสามารถเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งทางการเมืองได้ผ่านความรู้ความสามารถของตน แต่แน่นอนว่าหนทางนี้ไม่ได้ง่าย อย่างที่เราเห็นในหลายซีรีส์ถึงความพยายามของเหล่ากลุ่มอำนาจที่จะพยายามดำรงไว้ซึ่งอำนาจ และ Storyฯ คิดว่าเรื่อง <องค์หญิงใหญ่> สะท้อนประเด็นความขัดแย้งนี้ออกมาได้ดีมาก และองค์หญิงหลี่หรงเองเคยถกถึงข้อดีข้อเสียของการรับคนจากสื้อเจียบรรจุเข้าเป็นขุนนางโดยไม่ผ่านการสอบแข่งขันด้วยการสอบราชบัณฑิตได้รับการพัฒนาถึงขีดสุดในสมัยซ่งและในยุคสมัยนี้เองที่เหล่าสื้อเจียถูกริดรอนอำนาจจนเสื่อมหายไปในที่สุด เมื่อไม่มีสื้อเจียตระกูลขุนนางชั้นหนึ่งก็ไม่มีหานเหมินตระกูลขุนนางชั้นสอง และต่อมาคำว่า ‘หานเหมิน’ จึงถูกใช้เรียกคนยากจนสัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อถึงวลีจีนที่เหยียนซิ่นใช้ปลอบพานฉือที่กล่าวถึงในย่อหน้าแรกค่ะ(ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory)Credit รูปภาพจาก: https://www.ifensi.com/index.php?m=home&c=View&a=index&aid=4545https://business.china.com/ent/13004728/20240625/46749263.html Credit ข้อมูลรวบรวมจาก:https://www.sohu.com/a/249182333_100121516 https://www.163.com/dy/article/HQT63VVA05561H1M.html https://www.sohu.com/a/576151365_121252035 https://www.lishirenwu.com/jiangxianggushi/58427.html #ทำนองรักกังวานแดนดิน #องค์หญิงใหญ่ #หานเหมิน #สื้อเจีย #ตระกูลขุนนางจีน #สาระจีน
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 761 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    สุนัขเห่ากรรโชก วลีจาก <หาญท้าชะตาฟ้าฯ ภาค2> สวัสดีค่ะ เพื่อนเพจที่ได้ดูซีรีส์ <หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร ภาค 2> คงจำได้ว่าเหล่าขุนนางจากสำนักผู้ตรวจการได้ร้องเรียนฟ่านเสียนว่ารับเงินสินบน และฟ่านเสียนมีปฏิกิริยาตอบกลับคือ ส่งภาพอักษรสี่ตัวให้กับสำนักผู้ตรวจการ ทำให้พวกเขายิ่งโกรธแค้นกระเหี้ยนกระหือรือจะเอาผิดฟ่านเสียนให้ได้ อักษรสี่ตัวนี้คือ ‘อิ๋นอิ๋นขวางเฟ่ย’ (狺狺狂吠) ในซีรีส์พากย์ไทยแปลว่า ‘สุนัขเห่าโฮ่งๆ’ วลีนี้แปลว่าสุนัขเห่า แต่เพราะมีคำว่า ‘ขวาง’ ซึ่งแปลว่าบ้าคลั่ง มันจึงไม่ใช่สุนัขเห่าธรรมดา แต่เป็นการเห่าแบบกรรโชกแบบบ้าคลั่ง แต่ที่ดูแปลกตาสำหรับ Storyฯ คืออักษร ‘อิ๋น’ จึงลองไปหาข้อมูลดูพบว่ามันเป็นคำที่แทบไม่ค่อยเห็นในปัจจุบัน ‘อิ๋น’ มีที่มาจากบทกวีจีนโบราณที่มีชื่อว่า ‘จิ่วเปี้ยน’ (九辩 แปลได้ประมาณว่า คำถก 9 หัวข้อ) ซึ่งเป็นผลงานของซ่งอวี้ (宋玉) นักประพันธ์และขุนนางจากแคว้นฉู่ในสมัยจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐ (มีชีวิตอยู่ช่วงปี 298-222 ก่อนคริสตกาล) เป็นบทร้อยกรองยาวกว่าสองร้อยห้าสิบวรรค เขียนขึ้นเมื่อปีที่เขาถูกปลดออกจากราชการตอนอายุห้าสิบปี เป็นวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน บทกวีนี้จึงสะท้อนความรู้สึกหลากหลายโดยมีหัวข้อหลักคือความโศกเศร้าในสารทฤดู ถูกยกย่องให้เป็นต้นแบบและเป็นหนึ่งในสุดยอดบทกวีภายใต้หัวข้อนี้เพราะสามารถชวนให้ผู้อ่านจินตนาการและมีอารมณ์ร่วมได้อย่างดีเลิศ(หมายเหตุ บทกวี ‘เติงเกา’ จากตู้ฝู่ซึ่งเป็นสุดยอดกลอนเจ็ดที่เอ่ยถึงในภาคแรกเป็นอีกหนึ่งในสุดยอดบทกวีภายใต้หัวข้อเดียวกันนี้ https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/973244118137214)‘จิ่วเปี้ยน’ เปิดฉากมาด้วยการบรรยายความงามของฤดูใบไม้ร่วงที่ให้ความรู้สึกโศกเศร้า สะท้อนถึงความโดดเดี่ยวของคนที่ตกยากไร้ทรัพย์สินเงินทอง จากนั้นกล่าวถึงสตรีที่รักแล้วผิดหวังถูกทอดทิ้งสลับกับฉากเศร้าๆ ของสารทฤดูที่สะท้อนถึงอารมณ์ของนาง และวลีหมาเห่ากรรโชก ‘อิ๋นอิ๋นขวางเฟ่ย’ นี้มาจากฉากที่เล่าว่าสตรีผู้นี้พยายามจะเข้าไปหาคนรักแต่ถูกหมาเห่าขัดขวางไว้ไม่สามารถก้าวข้ามผ่านประตูไปได้ แต่จริงๆ แล้วฉากข้างต้นเป็นการอุปมาอุปไมยถึงคนที่พยายามเข้าหาแต่ไม่เป็นที่ต้องการ เพราะฉากถัดมากล่าวถึงคนที่พยายามทำตัวเป็นประโยชน์ ดุจขุนนางที่ต้องการรับใช้งานราชสำนัก แต่กลับไร้ซึ่งโอกาส ถูกกีดกันจากรอบด้าน ในขณะที่อำนาจตกไปอยู่ในมือที่ไม่สะอาดจนสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมือง เป็นความโศกเศร้าของคนที่รู้สึกว่าตัวตนหายไปพร้อมกับโอกาสในชีวิตที่หายไปแล้ว ดังนั้น บทร้อยกรองนี้จึงเป็นการพัฒนาเนื้อหาอย่างต่อเนื่องจากความสดใสของธรรมชาติที่สูญหาย (lost nature) ไปสู่รักที่สูญหาย (lost love) ไปสู่ความเป็นตัวตนที่สูญหาย (lost man)ผลงานของซ่งอวี้ได้รับอิทธิพลจากกวีรุ่นก่อนคือชวีหยวน (屈原) บ้างว่าเขาเป็นศิษย์ของชวีหยวน ผลงานของพวกเขาถูกยกย่องให้เป็นต้นแบบของสไตล์ที่เรียกว่าจินตนิยมในวรรณกรรมจีนโบราณ กล่าวคือ ใช้การบรรยายธรรมชาติหรือวิถีชีวิตคนธรรมดาเร้าอารมณ์ และในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงหลักความคิดหรืออุดมคติบางอย่าง แต่ ‘อิ๋นอิ๋นขวางเฟ่ย’ เดิมเป็นเพียงการบรรยายถึงอาการเห่าอย่างบ้าคลั่งของสุนัข ไม่ได้มีความหมายอื่นแอบแฝง มันถูกใช้เปรียบเปรยถึงคนในเชิงดูแคลนตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่การใช้วลีนี้ในลักษณะด่าคนนี้มีตัวอย่างให้เห็นในซีรีส์ ‘สามก๊ก’ เวอร์ชั่นปี 1994 ในตอนที่ขงเบ้งด่าหวางหลาง (อองลอง) จนกระอักเลือดตาย โดยคำด่าเต็มๆ กล่าวไว้ประมาณว่า อองลองทำตัวเป็นบ่าวสองนายไม่มีผลงานใดๆ ในชีวิต ยังจะมีหน้ามาว่ากล่าวตักเตือนคน ช่างทำตัวเป็นเสมือนสุนัขขี้เรื้อนเห่ากรรโชกได้อย่างไร้ยางอายปัจจุบัน ‘อิ๋นอิ๋นขวางเฟ่ย’ ใช้เปรียบเปรยถึงคนที่โวยวายเสียงดังแต่ไร้สาระ ประหนึ่งสุนัขที่สักแต่จะเห่าไปอย่างนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด จึงไม่แปลกที่ในเรื่อง <หาญท้าชะตาฟ้าฯ ภาค2> นี้ คนจากสำนักผู้ตรวจการจึงโกรธฟ่านเสียนมากมาย(ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory)Credit รูปภาพจากในละครและจาก: https://weibo.com/6356014463/OhILTDU5d Credit ข้อมูลรวบรวมจาก:https://baike.baidu.com/item/九辩/2482251 https://baike.baidu.com/item/宋玉/72945 https://www.ruanyifeng.com/blog/2006/02/post_174.html https://chuci.5000yan.com/jiubian/ #หาญท้าชะตาฟ้า #สุนัขเห่า #ซ่งอวี้ #จิ่วเปี้ยน #ฉู่ฉือ
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 751 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    กลอนเจ็ด ‘ชีเจวี๋ย’สวัสดีค่ะ สัปดาห์ที่แล้ว Storyฯ เล่าถึงกลอนจากเรื่อง <หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร ภาคแรก> ที่มีชื่อว่า ‘เกาเติง’ ของตู้ฝู่ ซึ่งเป็นกลอนเจ็ดอักษรที่มีลักษณะจังหวะเฉพาะเรียกสั้นๆ ว่า ‘ชีลวี่’ โดยคุยกันว่ากลอนบทนั้นเป็น ‘ที่สุด’ ได้อย่างไร วันนี้เรามาคุยกันถึงกลอนเจ็ดอีกประเภทหนึ่งจากเรื่อง <หาญท้าชะตาฟ้าฯ> เช่นกัน ซึ่งในฉากที่นางเอกและพระเอกร่ำลากันกลางทุ่งดอกคาโนลาสีเหลืองก่อนพระเอกต้องเดินทางไปยังแคว้นเป่ยฉีนั้น นางเอกบอกพระเอกว่า นางจะถือกิ่งดอกอิงฮวา (ดอกซากุระ) รอพระเอกกลับมา เชื่อว่าเพื่อนเพจคงเข้าใจจากบริบทของฉากนี้อยู่แล้วว่าดอกอิงฮวาหรือซากุระนี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก การถือกิ่งซากุระนี้ไม่ได้ถอดวรรคมาจากบทกวี หากแต่เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกกล่าวถึงในบทกวีที่มีชื่อว่า ‘หักกิ่งบุปผามอบอำลา’ (折枝花赠行) เป็นผลงานของกวีสมัยถังที่มีชื่อว่า หยวนเจิ่น ซึ่งเรื่องนี้ Storyฯ เคยแปลและเขียนถึงไปแล้ว (https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/686842736777355) แต่ที่จะยกมาคุยกันอีกในวันนี้คือประเด็นต่อเนื่องเรื่องกลอนเจ็ดที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ซึ่งหากใครพลาดยังไม่ได้อ่านของสัปดาห์ที่แล้ว ควรกลับไปอ่านมาก่อนเพื่อทำความเข้าใจนะคะ (https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/pfbid02zNLqAnmVP4BKMdSasLRsryL1cWdbRnP5fovkVQsUJovx28SGUp66Az77AR4uDcBhl) Storyฯ พูดไปในบทความที่แล้วว่า บ่อยครั้งที่เราเห็นคำแปลบทกวีจีนที่ได้ใจความและ/หรือได้ความไพเราะ เราไม่รู้เลยว่าคำแปลนั้นตกหล่นเอกลักษณ์เฉพาะทางเทคนิคการใช้คำของกลอนจีนไป บทกวี ‘หักกิ่งบุปผามอบอำลา’ ที่ Storyฯ เคยแปลไว้ก็เช่นกัน ครั้นวันนี้จะมาแปลใหม่ให้สะท้อนเอกลักษณ์เหล่านี้ก็รู้สึกว่าตัวเองความสามารถไม่ถึงกลอนเจ็ดอักษรของจีน เรียกได้ทั่วไปว่า ‘ชีเหยียน’ (七言) ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องมีเสียงพ้องเสียงคล้องจองอย่างไรหรือไม่ ยกเว้นกลอนเจ็ดสองประเภทที่มีเอกลักษณ์ทางเทคนิคเฉพาะตัวคือ (1) ‘ชีเหยียนลวี่ซือ’ (七言律诗) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ชีลวี่’ (七律) และ (2) ‘ชีเหยียนลวี่เจวี๋ย’ (七言律绝) หรือ ‘ชีเหยียนเจวี๋ยจวี้’ (七言绝句) เรียกสั้นๆ ว่า ‘ชีเจวี๋ย’ (七绝) (อนึ่ง คำว่า ‘ลวี่’ แปลว่ากฎกติกา)‘ชีลวี่’ และ ‘ชีเจวี๋ย’ ต่างกันอย่างไร? สัปดาห์ที่แล้วที่คุยกัน เราเห็นแล้วว่า กลอนเจ็ดชีลวี่หมายถึงกลอนเจ็ดสี่วรรคคู่ รวมแปดวรรค แต่ละวรรคมีเจ็ดอักษร มีแบบแผนจังหวะเสียงเข้มเบาที่ตายตัว โดยวรรคแรกและวรรคสุดท้ายต้องมีจังหวะเดียวกัน และวรรคหลังของประโยคกลางจะมีจังหวะเสียงเดียวกับวรรคแรกของประโยคกลางอีกประโยคหนึ่งทีนี้มาดูกลอนเจ็ดชีเจวี๋ย กันบ้างโดยใช้บทกวี ‘หักกิ่งบุปผามอบอำลา’ นี้เป็นตัวอย่าง (ดูรูปประกอบ) เราจะเห็นว่า เอกลักษณ์ทางเทคนิคเฉพาะของกลอนประเภทนี้คือ- มีเจ็ดอักษรในแต่ละวรรค แต่จะมีทั้งหมดเพียงสองวรรคคู่ รวมสี่วรรค ซึ่งเท่ากับว่ามีความยาวเพียงครึ่งเดียวของกลอนเจ็ดชีลวี่- ยังคงมีแบบแผนของจังหวะเสียงหนักเบาเหมือนกับกลอนเจ็ดชีลวี่ และมาตรฐานแบบแผนจังหวะนี้มีสี่แบบเช่นกัน- วรรคแรกและวรรคสุดท้ายของกลอนมีจังหวะเหมือนกัน เช่นเดียวกับกลอนเจ็ดชีลวี่- เนื่องจากจำนวนวรรคตรงกลางสั้นกว่าชีลวี่ ดังนั้นแบบแผนจังหวะของกลอนเจ็ดชีเจวี๋ยในวรรคที่เหลือจึงตายตัว กล่าวคือ วรรคหลังของประโยคแรกมีจังหวะเหมือนกันกับวรรคแรกของประโยคสองและสัปดาห์ที่แล้วเราคุยถึงว่ากลอนที่ดีมีหัวข้อที่ชัดเจนและทุกวรรคช่วยเสริมหัวข้อนี้ อีกทั้งมีการใช้คำที่มีความเป็นคู่ ไม่ว่าจะคู่เหมือนหรือคู่ขัดแย้ง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในกลอนเจ็ดชีเจวี๋ยนี้เช่นกันเพื่อนเพจบางท่านอาจคิดว่ากลอนเจ็ดชีลวี่ยาวกว่าจึงแต่งยากกว่า แต่จริงๆ แล้วกลับกันค่ะ จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลอนเจ็ดชีเจวี๋ยมีข้อจำกัดของจังหวะเสียงมากกว่า ดังนั้น เมื่อจำนวนอักษรน้อยลง การสื่อความหมายและการสร้างลูกเล่นความเป็นคู่ภายใต้แบบแผนที่ตายตัวเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก และนี่คือสาเหตุที่ว่ามันถูกเรียกว่า ‘เจวี๋ย’ ซึ่งแปลว่า ‘ที่สุด’ หรือ Ultimate นั่นเองเมื่อเอ่ยถึง สุดยอดแห่ง ‘ชีลวี่’ จะนึกถึงบทกวี ‘เกาเติง’ ที่คุยไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่หากพูดถึงสุดยอดแห่ง ‘ชีเจวี๋ย’ จะมีคำตอบที่หลากหลาย โดยส่วนตัวแล้ว Storyฯ คิดว่ากลอนเจ็ดชีเจวี๋ยที่ดังๆ ล้วนมีคุณสมบัติครบถ้วนด้านแบบแผนจังหวะ ดังนั้นความแตกต่างจึงวัดกันที่ความกินใจของเนื้อหา ความไพเราะของภาษาที่ใช้ และลูกเล่นด้านความเป็นคู่ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่วัดกันยากมากในบริบทของอักษรเพียงสี่วรรค จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคำตอบที่หลากหลายว่ากลอนใดเป็น ‘ที่สุด’ ของกลอนเจ็ดชีเจวี๋ย(ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory)Credit รูปภาพจาก: https://sail957.pixnet.net/blog/post/556471418 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก:https://baike.baidu.com/item/七言绝句/10272877 https://www.163.com/dy/article/FMOMPMIE0544516W.html https://m.gushici.com/t_467188 https://wapbaike.baidu.com/tashuo/browse/content?id=35fbbd5372f3870ada7ea3d1 #หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร #กลอนเจ็ดจีนโบราณ #ชีเจวี๋ย #กวีสมัยถัง #หยวนเจิ่น #อิงฮวา
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 759 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    สุดยอดกลอนเจ็ด ‘ชีลวี่’ จาก <หาญท้าชะตาฟ้าฯ ภาค1>สวัสดีค่ะ Storyฯ ย้อนกลับไปดูภาคแรกของ <หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร> เพื่อทวนความทรงจำรอดูภาคสอง เชื่อว่าเพื่อนเพจที่ได้ดูภาคแรกนี้ต้องจำได้ว่าในงานสังสรรค์ชมบทกวี พระเอกได้ยืมกลอนจากกวีเอกตู้ฝู่มาใช้โดยมั่นใจว่าจะไม่มีใครสามารถแต่งกลอนที่ดีกว่าได้เพราะกลอนบทนี้ของตู้ฝู่ถูกยกย่องให้เป็น ‘ที่สุด’ Storyฯ มั่นใจว่าเพื่อนเพจทั้งหลายที่เคยได้ยินคำแปลของกลอนบทนี้คง ‘เอ๊ะ’ เหมือนกันว่ามันเป็น ‘ที่สุด’ อย่างไร วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันก่อนอื่นขอแนะนำเกี่ยวกับกวีตู้ฝู่และกลอนบทนี้ กวีตู้ฝู่เป็นกวีเอกสมัยถัง (ค.ศ. 712–770) ถูกยกย่องเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดกวีและถูกขนานนามว่า ‘ราชันกวี’ และกลอนบทนี้มีชื่อว่า ‘เติงเกา’ (登高 แปลว่าปีนขึ้นที่สูง) เบื้องหลังของกลอนนี้คือ เป็นช่วงปี ค.ศ. 766 ซึ่งผ่านเหตุการณ์กบฏอันลู่ซานไปได้หลายปีแล้วแต่บ้านเมืองยังไม่สงบ สหายต่างสิ้นชีพกันไปเกือบหมด ตัวตู้ฝู่เองก็มีโรครุมเร้า เดิมอาศัยใต้ร่มบารมีของเหยียนอู่ เมื่อสิ้นเหยียนอู่ก็ไร้ที่พึ่งพาจำต้องเดินทางจากเมืองหลวงไป ตอนที่ตู้ฝู่แต่งกลอนบทนี้คือช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่เขาแวะพักฟื้นที่เขตขุยโจว (ปัจจุบันใกล้ฉงชิ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแยงซีเกียง หรือฉางเจียงที่กล่าวถึงในบทกลอน) วันหนึ่งเขาปีนขึ้นหอสูงนอกเมืองไป๋ตี้ มองทิวทัศน์ก็รำลึกถึงอดีตและรู้สึกสะท้อนใจกับชีวิตที่ต้องระหกระเหินแม้ร่างกายเจ็บป่วย กลอนบทนี้สี่วรรคแรกจึงบรรยายถึงความงามแบบเศร้าๆ ของทิวทัศน์ในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี สี่วรรคสุดท้ายบรรยายถึงสภาพตนเองที่มีแต่ความโศกเศร้าเป็นเพื่อน แม้แต่จะกินเหล้าดับทุกข์ก็ยังทำไม่ได้เพราะว่าร่างกายไม่เอื้ออำนวย และนี่คือสาเหตุว่าทำไมในเรื่อง <หาญท้าชะตาฟ้าฯ ภาคแรก> จึงมีฉากที่มีคนถามว่า พระเอกอายุยังน้อยจะสามารถแต่งกลอนที่แฝงด้วยความทุกข์ความเศร้าของคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมาได้อย่างไรกลอนบทนี้ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดแห่งกลอนเจ็ดอักษรที่มีลักษณะเฉพาะ หรือที่เรียกว่า ‘ชีเหยียนลวี่ซือ’ (七言律诗) เรียกสั้นๆ ว่า ‘ชีลวี่’ (七律) ที่บอกว่ามีลักษณะเฉพาะเพราะว่ากลอนเจ็ดชีลวี่นี้หมายถึงกลอนเจ็ดสี่วรรคคู่ รวมแปดวรรค แต่ละวรรคมีเจ็ดอักษร มีแบบแผนจังหวะเสียงที่ตายตัว ทีนี้เรามาดูกันว่ามันเป็น ‘สุดยอด’ อย่างไรประเด็นแรกคือ หัวข้อ --- กลอนที่ดีจะพัฒนาถ้อยคำขึ้นรอบๆ หัวข้อของกลอน ในที่นี้หัวข้อคือ ความเศร้าของสารทฤดู ภาพทิวทัศน์คือใบไม้เปลี่ยนสีและธรรมชาติที่แฝงด้วยความเศร้า ความในใจคือความโศกเศร้าเชื่อมโยงกับสารทฤดู ทุกวรรคทุกประโยคล้วนส่งเสริมหัวข้อนี้แต่บรรยายให้เห็นราวภาพวาด แต่ข้อจำกัดของกลอนเจ็ดชีลวี่คือพอเข้าประโยคที่สามต้องเปลี่ยนเรื่อง... ใช่ค่ะ เปลี่ยนเรื่องโดยไม่หลุดจากหัวข้อ ดังนั้นเราจึงเห็นสองประโยคแรกเป็นการบรรยายทิวทัศน์ และประโยคสามเปลี่ยนมาพูดถึงตัวกวีเองแต่คุณสมบัติตามประเด็นแรกนี้หาไม่ยากในกลอนที่โด่งดังทั้งหลาย เรามาดูประเด็นที่เข้มข้นมากขึ้นกันประเด็นที่สองคือ แบบแผนจังหวะและเสียง --- กลอนเจ็ดชีลวี่มีแบบแผนจังหวะเฉพาะเจาะจงอยู่สี่แบบ และจังหวะที่ว่านี้คือจังหวะความเข้มเบาของเสียงอักษร โดย ‘เบา’ หมายถึงเสียงกลาง ซึ่งท่านที่เรียนภาษาจีนจะทราบว่าจริงๆ แล้วภาษาจีนไม่มีเสียงกลางเหมือนไทยแต่ผันเป็นสี่เสียง และอักษรที่อยู่ในกลุ่มเสียงเบานี้ส่วนใหญ่เป็นอักษรในเสียงสองหรืออาจเป็นอักษรเสียงแรก ส่วน ‘เข้ม’ คือหมายถึงเสียงอื่น แต่ในประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนของการผันเสียง เช่น หากเป็นอักษรแรกตอนเริ่มวรรคหรือหลังกลางวรรค เสียงเบาอาจผันเป็นเสียงเข้มได้ ฟังแล้วอาจงงแต่เราไม่ได้อยากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญก็อย่าไปเครียดกับมันค่ะ สรุปได้สั้นๆ ว่ากลอนเจ็ดชีลวี่มีแบบแผนจังหวะเบาเข้มที่ชัดเจน ซึ่งกวีต้องรู้ว่าอักษรใดคือเสียงเบา อักษรใดคือเสียงเข้ม และต้องเลือกใช้อักษรที่ให้เสียงเบาเข้มตามแบบแผนจังหวะที่เลือก ดังที่กล่าวมาข้างต้น ชีลวี่มีสี่แบบแผนจังหวะมาตรฐาน ซึ่งทั้งสี่แบบนี้ล้วนให้อิสระกับจังหวะของประโยคแรกและประโยคสุดท้าย แต่เข้มงวดเรื่องการเชื่อมโยงทางจังหวะของวรรคอื่นๆ อย่าเพิ่งงงค่ะ เรามาดูกลอน ‘เติงเกา’ เป็นตัวอย่าง เอกลักษณ์ของแบบแผนชีลวี่สรุปได้ดังนี้ (ดูรูปประกอบขวาล่าง) - จังหวะของวรรคท้ายในประโยคแรกและประโยคสามเหมือนกัน และต่อเนื่องมาถึงจังหวะของวรรคแรกในประโยคสองและวรรคแรกในประโยคสุดท้ายก็เหมือนกัน - ลงท้ายทุกประโยคด้วยเสียงเบาซึ่งทำให้จำนวนอักษรที่สามารถนำมาใช้ได้นั้นมีจำนวนจำกัดยิ่งขึ้น และ - จังหวะเข้มเบาของวรรคแรกและวรรคจบต้องเหมือนกันเชื่อว่าเพื่อนเพจคงรู้สึกเหมือน Storyฯ แล้วว่า การที่จะใช้อักษรให้สื่อความหมายได้ตามต้องการและยังอยู่ในกรอบแบบแผนจังหวะเสียงที่ว่ามานี้ยากมากและกวีผู้นั้นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาสูงมาก เท่านี้ยังไม่พอ ดีกรีความเข้มข้นของภาษาของกลอนบทนี้คือประเด็นสุดท้ายจะกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายคือ ความเป็นคู่ --- หลายคนมักเข้าใจว่ากลอนจีนต้องมีความคล้องจองของคำ แต่ถ้าเพื่อนเพจดูจากคำออกเสียงที่ Storyฯ ใส่มาให้จะเห็นว่าเสียงไม่คล้องจองกันเลย ดังนั้นจะเห็นว่ากลอนจีนโบราณจริงแล้วให้ความสำคัญกับความคล้องจองของอักษรน้อยกว่าความเป็นคู่ ซึ่งความเป็นคู่อาจหมายถึง ‘คู่เหมือน’ หรือ ‘คู่ขัดแย้ง’ ซึ่ง Storyฯ เคยเกริ่นถึงแล้วในบทความเกี่ยวกับรหัสลับจาก <ข้ามภูผาหาญท้าลิขิตรัก> (https://www.facebook.com/StoryfromStory/posts/pfbid02a8RcKiQmJ1GyrL2pkPs4dKmeZDnuti8guSaVo2VgSTcG9obtJoguAX62Mx4DgbQLl) เพื่ออธิบายประเด็นความเป็นคู่นี้ Storyฯ เลยแปลและเรียบเรียงบทกวีนี้โดยไม่เน้นความไพเราะหรือความพลิ้วพราย แต่พยายามคงเอกลักษณ์ความเป็นคู่ของวรรคแรกและวรรคหลังของแต่ละประโยคไว้ (ดูรูปประกอบขวาบนนะคะ) จะเห็นว่าความเป็นคู่นี้มีลูกเล่นได้หลากหลาย อาทิ - คุณศัพท์ขยายนาม เช่นในประโยคแรก ลมแรง <-> น้ำใส และ ฟ้าสูง <-> ทรายขาว ; ประโยคสาม หมื่นลี้ <-> ร้อยปี- นามและกิริยา เช่นในประโยคแรก ลิงหวนไห้ <-> นกบินกลับ; - คำซ้ำๆ เหมือนกัน เช่นในประโยคที่สอง โปรยโปรย <-> ม้วนม้วน- คำที่ความหมายคล้ายคลึงด้วยจำนวนอักษรเท่ากัน เช่นในประโยคที่สอง ไร้ขอบเขต <-> ไม่สิ้นสุด- อารมณ์ที่ขัดแย้งกัน เช่นในประโยคสาม วรรคแรก ‘หมั่นมาเยือน’ ให้อารมณ์ความคึกคักขัดแย้งกับวรรคหลัง ‘ปีนหอเดียวดาย’ - อารมณ์สอดคล้องกัน เช่นในประโยคสุดท้ายที่ล้วนบรรยายถึงความยากลำบากทางกายและความระทมทางใจและหากเพื่อนเพจสังเกตดีๆ นอกจากความเป็นคู่ของคำที่ใช้แล้ว จะเห็นว่าตำแหน่งของคำเหล่านี้ล้วนเป็นตำแหน่งเดียวกันในวรรคแรกและวรรคหลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นคู่Storyฯ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมจีน แต่ที่พยายามแปลและยกมาเล่าให้ฟังนี้ เพื่อที่เพื่อนเพจจะได้อรรถรสถึงความซับซ้อนของกวีจีนโบราณ บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำแปลกลอนจีนที่ไพเราะสละสลวยได้อารมณ์และความหมาย แต่ไม่เคยรู้เลยว่าคำแปลนั้นไม่สามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางเทคนิคของบทกลอน Storyฯ เองเวลาแปลบทกวีจีนก็มักจะมองข้ามเอกลักษณ์ทางเทคนิคเช่นกัน และเอกลักษณ์ทางเทคนิคเหล่านี้นี่เองที่ช่วยเสริมให้บทกวี ‘เติงเกา’ ของตู้ฝู่บทนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นสุดยอดแห่งกลอนเจ็ดชีลวี่ยาวนานกว่าหนึ่งพันปี ทีนี้เข้าใจกันแล้วนะคะว่าบทกวีนี้เป็น ‘ที่สุด’ ได้อย่างไร(ป.ล. หากอ่านแล้วชอบใจ อย่าลืมกดติดตามเพจนี้เพื่อป้องกันการกีดกันของเฟซบุ๊คด้วยนะคะ #StoryfromStory)Credit รูปภาพจาก: https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_5325467 Credit ข้อมูลรวบรวมจาก:https://www.sohu.com/a/604660125_121119376 https://www.toutiao.com/article/6824075960027972109/?&source=m_redirect https://www.sohu.com/a/138168554_146329https://baike.baidu.com/item/登高/7605079 https://baike.baidu.com/item/七言律诗/10294898 #หาญท้าชะตาฟ้า ปริศนายุทธจักร #กลอนเจ็ดจีนโบราณ #ชีลวี่ #เกาเติง #กวีสมัยถัง #ตู้ฝู่
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 869 มุมมอง 0 รีวิว
  • #บทกวี
    #รักธรรมะ
    #ท่านจันทร์
    #thaitimes
    #บทกวี #รักธรรมะ #ท่านจันทร์ #thaitimes
    Like
    2
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 649 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    "ฟ้ากำหนดบทบาทวาดชีวิต พรหมลิขิตขีดชะตาอย่าสงสัย คราอับจนทนสู้อยู่ต่อไป กลัวทำไมอุปสรรคย่อมผลักดัน ให้แปรปรวนผวนผันวันละร้อย จงค่อยค่อยพิจารณาอย่าหุนหัน อันชั่วดีมีจนระคนกัน จะมัวพรั่นอยู่ทำไมใช่จีรัง" ไม่ทราบนามผู้แต่ง (ที่มา : วรรคทองในวรรณคดี) #วรรคทองในวรรณคดี #thaitimes #บทกวี #กลอน #ข้อคิด
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 515 มุมมอง 0 รีวิว
  • อ่านเพิ่มเติม
    #thaitimes #ท่านจันทร์ #บทกวี #กลอน #ข้อคิด #รักธรรมะ
    0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 619 มุมมอง 0 รีวิว
Pages Boosts