เนื่องเพราะว่าชีวิตของพระภิกษุสามเณร ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือความอดทน อดทนต่อความยากลำบาก อดกลั้นต่ออารมณ์กระทบ อดออมที่จะไม่แสดงออกถึงกิริยาอาการไม่ดี ต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของพระเราที่จะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ถือหลักว่าพระภิกษุสามเณรก็คือธรรมเสนา ทหารในกองทัพธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเป็นทหาร ก็อย่างที่โบราณเขาใส่เอาไว้ในพยัญชนะไทยของเรา ก็คือขยายความว่า ท.ทหารอดทน
คราวนี้สิ่งที่เราทนนั้นต้องเป็นการทนด้วยการใช้ปัญญา ไม่ใช่ทนแบบควาย..! ความทนด้วยการใช้ปัญญาก็คือ รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย พ้นจากวินาทีนี้ไป เราอาจจะเสียชีวิตแล้วก็ได้ ถ้าหากว่าสติปัญญาของเราสมบูรณ์พร้อม เห็นชัดเจนอยู่ในลักษณะแบบนี้ ก็จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรลำบาก เพราะว่าเราจะพ้นไปแล้ว
ดังนั้น..นักปฏิบัติธรรมที่ดีจึงต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย แล้วตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ตายแล้วเรามีพระนิพพานเป็นที่ไปเท่านั้น ไม่ใช่ว่าอะไรก็ทน แต่เป็นการทนแบบไร้ปัญญา ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เราทนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร
การที่เราทนแบบคนมีปัญญา รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย เราก็ต้องเตรียมความพร้อม อย่างที่เคยมีหนังสือ หรือว่าภาพยนตร์ที่เขียนเอาไว้ว่า "ถ้าเหลือชีวิตอยู่อีก ๗ วัน เราจะทำอะไรกันบ้าง ?"จะว่าไปแล้ว คนเขียนก็พอมีส่วนของการเข้าถึงธรรมอยู่บ้าง แต่ยังประมาทจนเกินไป เพราะคิดว่ายังอยู่อีกตั้ง ๗ วัน..!
ทำอย่างไรที่เราจะรู้ตัวอยู่เสมอว่า หายใจเข้า..ไม่หายใจออก เราก็ตายแล้ว หายใจออก..ไม่หายใจเข้า เราก็ตายอีกเช่นกัน ชีวิตนี้มีความตายเป็นเบื้องหน้า เราจักต้องถึงความตายเป็นแน่แท้ ไม่มีใครล่วงพ้นความตายนี้ไปได้ ก็แปลว่า ต้องมีปัญญาในมรณานุสติอยู่ในระดับที่สูงมาก
คราวนี้เมื่อรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม การเตรียมพร้อมของเราก็ไม่มีอะไรที่เกินไปกว่า ศีล สมาธิ แล้วก็ปัญญา ในแต่ละวันเราต้องทบทวนว่าศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เราละเมิดศีลด้วยตนเองหรือไม่ ? เราได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? และท้ายที่สุดเรายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ?
ในเมื่อศีลของเราสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมแล้ว ก็เป็นอันว่ารอดตัวไปอีกวัน แต่ถ้ามีขาดตกบกพร่อง ต้องตั้งใจทันทีว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจักเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แล้วตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังรักษาสิกขาบทต่อไป
ส่วนในเรื่องของสมาธินั้น ถ้าเป็นไปได้ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกตลอดทั้งวัน ถ้าหากว่าไม่ได้ อย่างน้อย ๆ เช้า ๆ เย็น ๆ ต้องมีเวลาในการภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ว่าจากการที่กระผม/อาตมภาพปฏิบัติมาด้วยตัวเอง ตอนช่วงเช้าภาวนาจนกำลังใจทรงตัวเต็มที่เท่าที่เราทำได้ แต่พอไปทำการทำงาน กระทบกระทั่งกับสารพัดอารมณ์ที่ประเดประดังเข้ามา ก็มักจะไม่พอใช้งาน จึงต้องไปภาวนาเพิ่มเติมตอนพักเที่ยง
ดังนั้น..เรื่องของอาหารการกิน จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ สักแต่ว่ายัด ๆ เข้าปาก กลืนลงท้องไปให้อิ่มก็พอ เอาเวลาที่เหลือไปภาวนาให้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาช่วงบ่าย เราจะได้อาศัยกำลังนั้นทำงานของเราต่อ พอกระทบกระทั่งกับอารมณ์ต่าง ๆ เข้า ก็มักจะพังเสียก่อนที่จะหมดวัน เราจึงต้องมีการภาวนาในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำด้วย เพื่อรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องกัน
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
สามารถอ่านต่อที่เว็บบอร์ดพระนิพพาน
https://www.thenirvanalive.com/community/postid/99/ เนื่องเพราะว่าชีวิตของพระภิกษุสามเณร ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือความอดทน อดทนต่อความยากลำบาก อดกลั้นต่ออารมณ์กระทบ อดออมที่จะไม่แสดงออกถึงกิริยาอาการไม่ดี ต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของพระเราที่จะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ถือหลักว่าพระภิกษุสามเณรก็คือธรรมเสนา ทหารในกองทัพธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเป็นทหาร ก็อย่างที่โบราณเขาใส่เอาไว้ในพยัญชนะไทยของเรา ก็คือขยายความว่า ท.ทหารอดทน
คราวนี้สิ่งที่เราทนนั้นต้องเป็นการทนด้วยการใช้ปัญญา ไม่ใช่ทนแบบควาย..! ความทนด้วยการใช้ปัญญาก็คือ รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย พ้นจากวินาทีนี้ไป เราอาจจะเสียชีวิตแล้วก็ได้ ถ้าหากว่าสติปัญญาของเราสมบูรณ์พร้อม เห็นชัดเจนอยู่ในลักษณะแบบนี้ ก็จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรลำบาก เพราะว่าเราจะพ้นไปแล้ว
ดังนั้น..นักปฏิบัติธรรมที่ดีจึงต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย แล้วตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ตายแล้วเรามีพระนิพพานเป็นที่ไปเท่านั้น ไม่ใช่ว่าอะไรก็ทน แต่เป็นการทนแบบไร้ปัญญา ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เราทนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร
การที่เราทนแบบคนมีปัญญา รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย เราก็ต้องเตรียมความพร้อม อย่างที่เคยมีหนังสือ หรือว่าภาพยนตร์ที่เขียนเอาไว้ว่า "ถ้าเหลือชีวิตอยู่อีก ๗ วัน เราจะทำอะไรกันบ้าง ?"จะว่าไปแล้ว คนเขียนก็พอมีส่วนของการเข้าถึงธรรมอยู่บ้าง แต่ยังประมาทจนเกินไป เพราะคิดว่ายังอยู่อีกตั้ง ๗ วัน..!
ทำอย่างไรที่เราจะรู้ตัวอยู่เสมอว่า หายใจเข้า..ไม่หายใจออก เราก็ตายแล้ว หายใจออก..ไม่หายใจเข้า เราก็ตายอีกเช่นกัน ชีวิตนี้มีความตายเป็นเบื้องหน้า เราจักต้องถึงความตายเป็นแน่แท้ ไม่มีใครล่วงพ้นความตายนี้ไปได้ ก็แปลว่า ต้องมีปัญญาในมรณานุสติอยู่ในระดับที่สูงมาก
คราวนี้เมื่อรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม การเตรียมพร้อมของเราก็ไม่มีอะไรที่เกินไปกว่า ศีล สมาธิ แล้วก็ปัญญา ในแต่ละวันเราต้องทบทวนว่าศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เราละเมิดศีลด้วยตนเองหรือไม่ ? เราได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? และท้ายที่สุดเรายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ?
ในเมื่อศีลของเราสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมแล้ว ก็เป็นอันว่ารอดตัวไปอีกวัน แต่ถ้ามีขาดตกบกพร่อง ต้องตั้งใจทันทีว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจักเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แล้วตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังรักษาสิกขาบทต่อไป
ส่วนในเรื่องของสมาธินั้น ถ้าเป็นไปได้ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกตลอดทั้งวัน ถ้าหากว่าไม่ได้ อย่างน้อย ๆ เช้า ๆ เย็น ๆ ต้องมีเวลาในการภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ว่าจากการที่กระผม/อาตมภาพปฏิบัติมาด้วยตัวเอง ตอนช่วงเช้าภาวนาจนกำลังใจทรงตัวเต็มที่เท่าที่เราทำได้ แต่พอไปทำการทำงาน กระทบกระทั่งกับสารพัดอารมณ์ที่ประเดประดังเข้ามา ก็มักจะไม่พอใช้งาน จึงต้องไปภาวนาเพิ่มเติมตอนพักเที่ยง
ดังนั้น..เรื่องของอาหารการกิน จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ สักแต่ว่ายัด ๆ เข้าปาก กลืนลงท้องไปให้อิ่มก็พอ เอาเวลาที่เหลือไปภาวนาให้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาช่วงบ่าย เราจะได้อาศัยกำลังนั้นทำงานของเราต่อ พอกระทบกระทั่งกับอารมณ์ต่าง ๆ เข้า ก็มักจะพังเสียก่อนที่จะหมดวัน เราจึงต้องมีการภาวนาในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำด้วย เพื่อรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องกัน
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
สามารถอ่านต่อที่เว็บบอร์ดพระนิพพาน
https://www.thenirvanalive.com/community/postid/99/