ความเสื่อมสร้างความเสี่ยง! ‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ 95% รถรับจ้างไม่ประจำทาง คือ ระเบิดเวลาบนท้องถนนไทย แนะรัฐตรวจเข้มกลุ่มรถที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมจัดงบฯ – สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หนุนผู้ประกอบการใช้วัสดุทนไฟ
เหตุการณ์รถบัสนักเรียนไฟไหม้ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สะท้อนความล้มเหลวในการป้องกัน และควบคุมการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย ตอกย้ำสมญานามประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการจราจรมากที่สุด สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และครองแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียน
อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยง ทั้งในด้านพฤติกรรมการขับขี่ ความรู้ในการเผชิญเหตุฉุกเฉิน ยังได้นำไปสู่การเปิดโปงข้อบกพร่องของ “ระบบตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย” โดยเฉพาะรถทัศนาจร หรือ “รถรับจ้างไม่ประจำทาง” ที่วิ่งให้บริการขวักไขว่ อันเป็นภาพคุ้นชินตาของคนไทย
‘ทีดีอาร์ไอ’ เผยมีรถรับจ้างไม่ประจำทางเพียง 5% ผ่าน “มาตรฐานลุกไหม้”
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แม้ว่ากรมการขนส่งทางบก จะมีความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานรถโดยสารขนาดใหญ่ในหลายประเด็น รวมถึงมาตรฐานด้านการลุกไหม้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติด้านการลุกไหม้การลามไฟของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสาร แต่ปรากฎว่าประกาศดังกล่าวถูกเลื่อนการบังคับใช้อยู่เรื่อย ๆ
ด้วยเหตุผลเพราะผู้ประกอบการ ไม่มีความพร้อมในการแบกรับต้นทุน จากการเปลี่ยนไปใช้วัสดุกันไฟที่มีราคาแพง จนกระทั่งสุดท้ายเพิ่งบังคับใช้ได้จริงในปี 2565 แต่กลับไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งหมายความว่าใช้บังคับได้เฉพาะกับรถที่จดทะเบียนใหม่ หรือ มีการปรับปรุงตัวถังใหม่ในปี 2565 เท่านั้น “รถคันที่เกิดเหตุก็เป็นหนึ่งในกรณี ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของประกาศฉบับนี้ เนื่องจากมีการจดเบียนใหม่ในปี 2561”
ดร.สุเมธ ระบุว่าปัจจุบันรถทัศนาจรในกลุ่มมาตรฐาน 1 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับรถคันที่เกิดเหตุ มีจำนวน 5,896 คัน และรถมาตรฐาน 4 หรือรถ 2 ชั้น มีจำนวน 4,972 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในจำนวนทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคัน มีจำนวนเพียง 5% เท่านั้น ที่ผ่านมาตรฐานด้านการลุกไหม้ และอนุมานได้ว่าส่วนที่เหลืออีก 95% ที่เป็นรถจดทะเบียนก่อนประกาศดังกล่าวบังคับใช้ ยังไม่ถูกกำหนดให้มีมาตรฐานนี้ ขณะที่ในต่างประเทศเวลากำหนดมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ จะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วย และต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี
“คาดว่ามีรถที่ไม่ผ่านหรือไม่ได้มาตรฐานใหม่ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป็นหมื่นคัน แสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่วิ่งอยู่บนท้องถนนตอนนี้ เสมือนกับเป็นระเบิดเวลาที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นอีกเมื่อไหร่ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก ควรติดตามตรวจสอบรถในกลุ่มนี้ ที่ยังวิ่งอยู่ในระบบ เช่น ด้านมาตรฐานทนไฟ การชนด้านหน้า สภาพรถเป็นอย่างไร ติดก๊าซหรือไม่ ฯลฯ โดยเร่งกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นในรถกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน”
จี้ ขบ.ตรวจเข้มรถเสี่ยงสูง – เสนอรัฐจัดงบฯหนุนผู้ประกอบการใช้วัสดุทนไฟ
ดร.สุเมธ เน้นย้ำว่าเหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของมาตรฐานความปลอดภัยของรถทัศนาจร ซึ่งความเสี่ยงนี้กระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน โจทย์ใหญ่ของรัฐคือจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้รถเหล่านี้มีมาตรฐานดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งการเปลี่ยนวัสดุไวไฟ เช่น เบาะที่นั่ง ม่าน พรม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน UNECE ซึ่งคือการใช้วัสดุที่ทนไฟได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟลุกไหม้จะไม่เร็วและแรง สามารถช่วยซื้อเวลาให้ผู้โดยสารหนีออกภายนอกตัวรถได้
“ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้ดีขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงไปยังผู้ประกอบการ หรือ อาจมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนในการปรับปรุงมาตรฐานรถ”
สำหรับกรณีระยะเวลาการใช้งานของรถคันเกิดเหตุ ที่พบว่ามีการจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513 นั้น ดร.สุเมธ กล่าวว่า องค์ประกอบหลักของรถจะมี 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : โครงหลัก หรือที่เรียกว่า “แชสซี” ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของรถ ซึ่งอยู่ด้านใต้ตัวรถติดกับโครงล้อ ซึ่งปกติรถขนาดใหญ่จะจดทะเบียนครั้งแรกด้วยแชสซี ซึ่งส่วนนี้มีอายุการใช้งาน 70-80 ปี
ส่วนที่ 2 : ตัวถังรถ ประกอบไปด้วย หลังคา ประตู เบาะที่นั่ง โดยตัวถังรถมีอายุการใช้งาน 8-10 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าจะปรับปรุงตัวถังรถหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลักว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการกำหนดอายุรถ หรือระยะเวลาการปรับปรุงสภาพรถ มีแต่การตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยกรมการขนส่งทางบก 2 ครั้งต่อปี
“ความเสื่อมสร้างความเสี่ยง จะมีการปรับปรุงความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร การตรวจสอบมีความเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน ตรงนี้ล้วนเป็นประเด็น เพราะมาตรฐานการติดตั้ง ยังเป็นสิ่งที่มีความท้าทายในการตรวจสอบอยู่ หากการติดตั้งทำโดยช่างผู้ชำนาญการก็จะได้มาตรฐานสูง แต่ถ้าติดตั้งโดยไม่รัดกุมมากนัก ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ประกายไฟ ได้” ดร.สุเมธ ระบุ
ยกระดับทัศนศึกษาปลอดภัย ซักซ้อม – วางแผน – ลงรายละเอียด รับมือเหตุไม่คาดคิด
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทบทวนเชิงระบบ เพื่อสร้างแนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย โดยปัจจุบันการไปทัศนศึกษาของเด็กมีอยู่ 2 รูปแบบ 1. ไปเช้า – เย็นกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทัศนศึกษาในช่วงปิดเทอมหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคม กับ 2. ทัศนศึกษาแบบพักค้างคืนจะอยู่ในช่วงเทอมสอง ซึ่งจะมีการเดินทางช่วงกลางคืน มีการใช้รถบัสสองชั้น การเกิดอุบัติเหตุจึงมักจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า คณะผู้จัดกิจกรรมไปทัศนศึกษา ต้องวางแผนโดยการลงรายละเอียด ทั้งการเตรียมครูประจำรถกี่คนต่อจำนวนเด็ก ยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่น อาจจะต้องเป็นครูหนึ่งคนต่อ 10 คน เป็นต้น หรือหากเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ หรือเกิดเพลิงไหม้ คุณครูก็ต้องรู้จักการใช้ถังดับเพลิง และถ้าจำเป็นต้องอพยพ คุณครูจะต้องวางแผนอพยพออกทางไหน ประตูอยู่ตรงจุดไหน เป็นต้น
เสนอยกเลิกรถสองชั้นเด็ดขาด – เพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ โดยเน้นย้ำการยกเลิกการใช้รถสองชั้นในการรับจ้างแบบไม่ประจำทาง อันเป็นสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนอเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง รวมถึงรื้อระบบตรวจสภาพรถบริการขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันตรวจสภาพปีละสองครั้ง แต่ในบางประเทศตรวจทุกไตรมาส ซึ่งจริง ๆ ควรจะดูตามจํานวนการใช้งาน หรือกำหนดเป็นระยะเวลาตายตัวเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ เสนอให้ขยายวงเงินประกันภัยภาคบังคับ ของรถโดยสารแบบไม่ประจำทาง โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 30 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันการทำประกันภัยรถภาคบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน แต่มีข้อกำหนดวงเงินเฉลี่ยจ่ายจากวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งไม่ครอบคลุมความเสียหายเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
“ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต้องนำไปสู่การพัฒนากฎ ระเบียบ มาตรการต่าง ๆ และวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถโดยสาร” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าว
จากอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ สู่ปัญหา “รถโรงเรียนไทยไม่ปลอดภัย”
ความไม่ปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนไทย ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และเปรียบเทียบมาตรฐานความปลอดภัยของไทยกับต่างประเทศ โดยล่าสุดในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูล รถรับส่งนักเรียนในสหรัฐ มีการควบคุมความปลอดภัยมากกว่ารถปกติถึง 70 เท่า ขณะที่ของญี่ปุ่นกรณีรถบัสทัศนศึกษา นอกจากการตรวจสอบมาตรฐานตัวรถที่เข้มงวด ยังมีการติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็วในการขับขี่อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย หากย้อนกลับไปที่ข้อมูลของ ศวปถ. และสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งระบุในคู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม พบว่าระหว่างปี 2562 – 2564 เกิดอุบัติเหตุกับรถโรงเรียนมากถึง 38 ครั้ง มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 431 ราย
จากการสํารวจข้อมูลรถโรงเรียนทุกภูมิภาค ได้สะท้อนภาพปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง 3 ปมปัญหาใหญ่ที่รอเวลาเกิดเหตุ ได้แก่
สภาพรถที่ไม่ได้มาตรฐาน : ดัดแปลงรถ ไม่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมี เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เป็นต้น
ผู้ขับประมาทไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร : ใช้ประสบการณ์ความเคยชินขับเร็วเสี่ยงอันตราย ขาดความรู้ความเข้าใจบทบาทการขับรถส่งนักเรียน
ขาดระบบจัดการรถที่ดี : ขาดระบบกำกับควบคุมผู้ขับขี่ รวมถึงกลไกสนับสนุนเพื่อให้เกิดระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ
แม้การเพิ่มมาตรการและความเข้มงวดภายหลังเกิดเหตุ จะหนีไม่พ้นคำพูดที่ว่า “วัวหายล้อมคอก” แต่ในบริบทของประเทศไทย เมื่อเกิดบทเรียนขึ้นแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันล้อมคอกไม่ให้เกิดเหตุสลด เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ที่มา
https://thaipublica.org/2024/10/tdri-reveals-95-of-non-regular-taxis-are-ticking-time-bombs-on-thai-roads/ #Thaitimes ความเสื่อมสร้างความเสี่ยง! ‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ 95% รถรับจ้างไม่ประจำทาง คือ ระเบิดเวลาบนท้องถนนไทย แนะรัฐตรวจเข้มกลุ่มรถที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมจัดงบฯ – สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หนุนผู้ประกอบการใช้วัสดุทนไฟ
เหตุการณ์รถบัสนักเรียนไฟไหม้ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สะท้อนความล้มเหลวในการป้องกัน และควบคุมการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไทย ตอกย้ำสมญานามประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการจราจรมากที่สุด สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และครองแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียน
อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยง ทั้งในด้านพฤติกรรมการขับขี่ ความรู้ในการเผชิญเหตุฉุกเฉิน ยังได้นำไปสู่การเปิดโปงข้อบกพร่องของ “ระบบตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย” โดยเฉพาะรถทัศนาจร หรือ “รถรับจ้างไม่ประจำทาง” ที่วิ่งให้บริการขวักไขว่ อันเป็นภาพคุ้นชินตาของคนไทย
‘ทีดีอาร์ไอ’ เผยมีรถรับจ้างไม่ประจำทางเพียง 5% ผ่าน “มาตรฐานลุกไหม้”
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แม้ว่ากรมการขนส่งทางบก จะมีความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานรถโดยสารขนาดใหญ่ในหลายประเด็น รวมถึงมาตรฐานด้านการลุกไหม้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติด้านการลุกไหม้การลามไฟของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสาร แต่ปรากฎว่าประกาศดังกล่าวถูกเลื่อนการบังคับใช้อยู่เรื่อย ๆ
ด้วยเหตุผลเพราะผู้ประกอบการ ไม่มีความพร้อมในการแบกรับต้นทุน จากการเปลี่ยนไปใช้วัสดุกันไฟที่มีราคาแพง จนกระทั่งสุดท้ายเพิ่งบังคับใช้ได้จริงในปี 2565 แต่กลับไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งหมายความว่าใช้บังคับได้เฉพาะกับรถที่จดทะเบียนใหม่ หรือ มีการปรับปรุงตัวถังใหม่ในปี 2565 เท่านั้น “รถคันที่เกิดเหตุก็เป็นหนึ่งในกรณี ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของประกาศฉบับนี้ เนื่องจากมีการจดเบียนใหม่ในปี 2561”
ดร.สุเมธ ระบุว่าปัจจุบันรถทัศนาจรในกลุ่มมาตรฐาน 1 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับรถคันที่เกิดเหตุ มีจำนวน 5,896 คัน และรถมาตรฐาน 4 หรือรถ 2 ชั้น มีจำนวน 4,972 คน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในจำนวนทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคัน มีจำนวนเพียง 5% เท่านั้น ที่ผ่านมาตรฐานด้านการลุกไหม้ และอนุมานได้ว่าส่วนที่เหลืออีก 95% ที่เป็นรถจดทะเบียนก่อนประกาศดังกล่าวบังคับใช้ ยังไม่ถูกกำหนดให้มีมาตรฐานนี้ ขณะที่ในต่างประเทศเวลากำหนดมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ จะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วย และต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี
“คาดว่ามีรถที่ไม่ผ่านหรือไม่ได้มาตรฐานใหม่ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป็นหมื่นคัน แสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่วิ่งอยู่บนท้องถนนตอนนี้ เสมือนกับเป็นระเบิดเวลาที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นอีกเมื่อไหร่ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก ควรติดตามตรวจสอบรถในกลุ่มนี้ ที่ยังวิ่งอยู่ในระบบ เช่น ด้านมาตรฐานทนไฟ การชนด้านหน้า สภาพรถเป็นอย่างไร ติดก๊าซหรือไม่ ฯลฯ โดยเร่งกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นในรถกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน”
จี้ ขบ.ตรวจเข้มรถเสี่ยงสูง – เสนอรัฐจัดงบฯหนุนผู้ประกอบการใช้วัสดุทนไฟ
ดร.สุเมธ เน้นย้ำว่าเหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของมาตรฐานความปลอดภัยของรถทัศนาจร ซึ่งความเสี่ยงนี้กระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน โจทย์ใหญ่ของรัฐคือจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้รถเหล่านี้มีมาตรฐานดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งการเปลี่ยนวัสดุไวไฟ เช่น เบาะที่นั่ง ม่าน พรม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน UNECE ซึ่งคือการใช้วัสดุที่ทนไฟได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟลุกไหม้จะไม่เร็วและแรง สามารถช่วยซื้อเวลาให้ผู้โดยสารหนีออกภายนอกตัวรถได้
“ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้ดีขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงไปยังผู้ประกอบการ หรือ อาจมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนในการปรับปรุงมาตรฐานรถ”
สำหรับกรณีระยะเวลาการใช้งานของรถคันเกิดเหตุ ที่พบว่ามีการจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513 นั้น ดร.สุเมธ กล่าวว่า องค์ประกอบหลักของรถจะมี 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : โครงหลัก หรือที่เรียกว่า “แชสซี” ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของรถ ซึ่งอยู่ด้านใต้ตัวรถติดกับโครงล้อ ซึ่งปกติรถขนาดใหญ่จะจดทะเบียนครั้งแรกด้วยแชสซี ซึ่งส่วนนี้มีอายุการใช้งาน 70-80 ปี
ส่วนที่ 2 : ตัวถังรถ ประกอบไปด้วย หลังคา ประตู เบาะที่นั่ง โดยตัวถังรถมีอายุการใช้งาน 8-10 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าจะปรับปรุงตัวถังรถหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลักว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการกำหนดอายุรถ หรือระยะเวลาการปรับปรุงสภาพรถ มีแต่การตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยกรมการขนส่งทางบก 2 ครั้งต่อปี
“ความเสื่อมสร้างความเสี่ยง จะมีการปรับปรุงความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร การตรวจสอบมีความเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน ตรงนี้ล้วนเป็นประเด็น เพราะมาตรฐานการติดตั้ง ยังเป็นสิ่งที่มีความท้าทายในการตรวจสอบอยู่ หากการติดตั้งทำโดยช่างผู้ชำนาญการก็จะได้มาตรฐานสูง แต่ถ้าติดตั้งโดยไม่รัดกุมมากนัก ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ประกายไฟ ได้” ดร.สุเมธ ระบุ
ยกระดับทัศนศึกษาปลอดภัย ซักซ้อม – วางแผน – ลงรายละเอียด รับมือเหตุไม่คาดคิด
ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถึงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทบทวนเชิงระบบ เพื่อสร้างแนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย โดยปัจจุบันการไปทัศนศึกษาของเด็กมีอยู่ 2 รูปแบบ 1. ไปเช้า – เย็นกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทัศนศึกษาในช่วงปิดเทอมหนึ่ง ประมาณเดือนตุลาคม กับ 2. ทัศนศึกษาแบบพักค้างคืนจะอยู่ในช่วงเทอมสอง ซึ่งจะมีการเดินทางช่วงกลางคืน มีการใช้รถบัสสองชั้น การเกิดอุบัติเหตุจึงมักจะเกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า คณะผู้จัดกิจกรรมไปทัศนศึกษา ต้องวางแผนโดยการลงรายละเอียด ทั้งการเตรียมครูประจำรถกี่คนต่อจำนวนเด็ก ยิ่งเป็นเด็กเล็กยิ่งต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่น อาจจะต้องเป็นครูหนึ่งคนต่อ 10 คน เป็นต้น หรือหากเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ หรือเกิดเพลิงไหม้ คุณครูก็ต้องรู้จักการใช้ถังดับเพลิง และถ้าจำเป็นต้องอพยพ คุณครูจะต้องวางแผนอพยพออกทางไหน ประตูอยู่ตรงจุดไหน เป็นต้น
เสนอยกเลิกรถสองชั้นเด็ดขาด – เพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ โดยเน้นย้ำการยกเลิกการใช้รถสองชั้นในการรับจ้างแบบไม่ประจำทาง อันเป็นสิ่งที่องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนอเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ยังไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง รวมถึงรื้อระบบตรวจสภาพรถบริการขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันตรวจสภาพปีละสองครั้ง แต่ในบางประเทศตรวจทุกไตรมาส ซึ่งจริง ๆ ควรจะดูตามจํานวนการใช้งาน หรือกำหนดเป็นระยะเวลาตายตัวเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ เสนอให้ขยายวงเงินประกันภัยภาคบังคับ ของรถโดยสารแบบไม่ประจำทาง โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 30 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันการทำประกันภัยรถภาคบังคับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน แต่มีข้อกำหนดวงเงินเฉลี่ยจ่ายจากวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งไม่ครอบคลุมความเสียหายเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
“ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต้องนำไปสู่การพัฒนากฎ ระเบียบ มาตรการต่าง ๆ และวิธีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของรถโดยสาร” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าว
จากอุบัติเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ สู่ปัญหา “รถโรงเรียนไทยไม่ปลอดภัย”
ความไม่ปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนไทย ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และเปรียบเทียบมาตรฐานความปลอดภัยของไทยกับต่างประเทศ โดยล่าสุดในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูล รถรับส่งนักเรียนในสหรัฐ มีการควบคุมความปลอดภัยมากกว่ารถปกติถึง 70 เท่า ขณะที่ของญี่ปุ่นกรณีรถบัสทัศนศึกษา นอกจากการตรวจสอบมาตรฐานตัวรถที่เข้มงวด ยังมีการติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็วในการขับขี่อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย หากย้อนกลับไปที่ข้อมูลของ ศวปถ. และสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งระบุในคู่มือการจัดระบบรถโรงเรียนให้ปลอดภัยและเป็นธรรม พบว่าระหว่างปี 2562 – 2564 เกิดอุบัติเหตุกับรถโรงเรียนมากถึง 38 ครั้ง มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 431 ราย
จากการสํารวจข้อมูลรถโรงเรียนทุกภูมิภาค ได้สะท้อนภาพปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง 3 ปมปัญหาใหญ่ที่รอเวลาเกิดเหตุ ได้แก่
สภาพรถที่ไม่ได้มาตรฐาน : ดัดแปลงรถ ไม่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมี เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง เป็นต้น
ผู้ขับประมาทไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร : ใช้ประสบการณ์ความเคยชินขับเร็วเสี่ยงอันตราย ขาดความรู้ความเข้าใจบทบาทการขับรถส่งนักเรียน
ขาดระบบจัดการรถที่ดี : ขาดระบบกำกับควบคุมผู้ขับขี่ รวมถึงกลไกสนับสนุนเพื่อให้เกิดระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ
แม้การเพิ่มมาตรการและความเข้มงวดภายหลังเกิดเหตุ จะหนีไม่พ้นคำพูดที่ว่า “วัวหายล้อมคอก” แต่ในบริบทของประเทศไทย เมื่อเกิดบทเรียนขึ้นแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันล้อมคอกไม่ให้เกิดเหตุสลด เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ที่มา https://thaipublica.org/2024/10/tdri-reveals-95-of-non-regular-taxis-are-ticking-time-bombs-on-thai-roads/
#Thaitimes