ดอลลาร์สหรัฐจะเสื่อมค่าลง ถึงแม้จะพยายามก่อสงครามและโรคระบาดก็ตาม / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สถานการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อ ดอลลาร์สหรัฐ มี 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.การพิมพ์แบงค์ก่อหนี้ไม่หยุดและไม่สามารถชำระหนี้ได้ และ 2. การยึดทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซีย ทำให้ทั่วโลกกำลังหาสินทรัพย์อย่างอื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่สามารถใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงได้ต่อไป ก็ยิ่งทำให้เงินทั่วโลกเทขายพันธบัตรและเงินดอลลาร์หันไปลงทุนสินทรัพย์อย่างอื่น โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชีย (ซึ่งแปลงเป็นเงินสกุลอื่น) คริปโตเคอเรนซี่ และทองคำ ประเทศใดไม่ทันระวังตัว หลงเพลินกับดัชนีราคาหุ้นที่สูงขึ้น ก็อาจจะได้รับผลกระทบทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเสื่อมค่าลงด้วยเพราะดอลลาร์ที่ท่วมในทุนสำรองระหว่างประเทศกำลังเสื่อมค่าลงเช่นกั

ด้วยเหตุผลนี้ธนาคารกลางของหลายประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ก็มีแนวโน้มจะซื้อทองคำมากขึ้น เพื่อรักษามูลค่าของทุนสำรองระหว่างประเทศให้มั่นคง กว่าการมีสินทรัพย์ที่มีเงินดอลลาร์มากเกินไป

ด้วยเหตุผลนี้ทองคำมีแนวโน้มจะมีราคาสูงขึ้นต่อไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

ดังนั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับความเสียหาย อีกทั้งต้องสั่งซื้อวัคซีนและยารักษาโรคในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐจากอเมริกา และยุโรป

การก่อหนี้สาธารณอันมหาศาลเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ในการหาซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ รวมถึงการเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศต่อก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น บางประเทศที่ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่แล้ว ก็ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มากขึ้น

และการที่ประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงครามหรือโรคระบาดที่ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ก็คือการรักษาความต้องการเงินดอลลาร์ให้ยังคงอยู่ต่อไป และต้องถูกแลกมาด้วยการสูบทรัพยากรจากประเทศลูกหนี้เหล่านั้นให้มาชดใช้หนี้ด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาและยุโรป

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่กระทรวงกลาโหมต้องออกมาปล่อยข่าวปลอมในการใส่ร้ายและทำลายวัคซีนจากจีน เพื่อต้องการสูบความมั่งคั่งจากทั่วโลกให้มาเพิ่งเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดที่นโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจะดำรงได้ต่อไป จึงถูกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจบีบคั้นให้ลดอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าทำให้เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาเดินหน้าต่อไป

แต่การลดดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ก็แลกกลับมาด้วยเงินทุนไหลออกจากดอลลาร์สหรัฐอย่างรวดเร็ว ไปสู่สินทรัพย์อื่นที่ปลอดภัยมากกว่าอย่างรวดเร็ว ทั้งทองคำ เงินดิจิตอลคริปโตเคอเรนซี่ หุ้นในประเทศในเอเชีย

ส่งผลทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มจะเสื่อมค่าลงเรื่อยๆ

เมื่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่สามารถจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาดอลลาร์อย่างสันติวิธีได้ ประชาคมโลกจึงมีความเสี่ยงที่จะได้เห็นปรากฏการณ์เร่งทำสงครามให้บานปลายมากขึ้น หรืออาจมีความเสี่ยงการก่อโรคระบาดใหม่ได้มากขึ้น

เพราะการก่อสงครามของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญความเสี่ยงในการสูญเสียในสมรภูมิสงครามโดยตรง ทำให้หลายประเทศต้องซื้ออาวุธสงครามด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น

และการปฏิบัติการด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต่อสู้กันนั้น ก็ย่อมทำให้ต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ดังนั้นน้ำมันที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ย่อมทำให้สหรัฐอเมริกาได้รับประโยชน์ทำกำไรมากขึ้น และรักษาเงินดอลลาร์ได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะทำให้สหรัฐอเมริการมีรายได้มาช่วยชำระหนี้มากขึ้น

ยังไม่นับความเสี่ยงประเทศคู่กรณีกับสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะถูกประเทศสหรัฐอเมริกาชักดาบ ไม่ต้องชำระหนี้พันธบัตรสหรัฐ และยึดทุนสำรองระหว่างประเทศมาชดใช้หนี้ให้สหรัฐอเมริการหรือให้มาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐอเมริกาได้ด้วย

กรณีศึกษาที่ชัดเจนว่าฝ่ายรักษาเงินดอลลาร์ที่ได้ทำลายการขนส่งก๊าซของรัสเซียในยุโรปก็ดี การมีเป้าหมายทำลายบ่อน้ำมันหรือโรงกลั่นน้ำมันของอิหร่านก็ดี มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการทำลายปิโตรเลียมของชาติอื่นๆ ที่จะไม่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายน้ำมัน(ปิโตรดอลลาร์) เพื่อหวังจะทำให้ปิโตรเลียมที่ค้าขายด้วยดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นที่จะครองสัดส่วนหลักของโลกได้ต่อไป ซึ่งเป็นวิธีดิ้นเฮือกสุดท้ายที่มีความเสี่ยงสูง เป็นการเดิมพันเพื่อรักษาเงินดอลลาร์เอาไว้ให้ได้

นั่นหมายความว่า “ราคาน้ำมัน” มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปด้วย

ดังนั้นลักษณะสงครามโลก หรือหากจะมีสงครามโรคเพื่อรักษาเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในลักษณะ “จำกัดพื้นที่” และ “ยืดเยื้อ”ไม่ให้เป็นสงครามที่มีผลกระทบต่อแผ่นดินของสหรัฐอเมริกา

แต่ก็ใช่ว่าแนวทางรักษาเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาที่ไม่ใช่แนวทางสันติวิธีแบบนี้จะทำได้ตามอำเภอใจ เพราะประเทศคู่กรณีอย่างจีน รัสเซีย ที่มีสมาชิก BRICS เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐให้ลดน้อยลง

จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ อิหร่าน อินเดีย ซึ่งกำลังทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ต่างมีอาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงจะไม่แพ้สหรัฐอเมริกาและยุโรปเท่านั้น แต่ยังอาจจะเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาแล้วด้วย

ดังนั้นการทำสงครามแบบ “จำกัดพื้นที่” และ “ยืดเยื้อ” อาจถูกโต้กลับด้วยแสนยานุภาพทำให้สงครามสิ้นสุดลงได้เช่นกัน

ในขณะที่การทำสงครามโรคระบาดก็อาจจะไม่ง่ายอีกเช่นกัน เพราะหลังจากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 เริ่มทำให้หลายประเทศได้ตระหนักถึงความเสียหายรอบด้าน และมีการเตรียมความพร้อมมากขึ้น ทั้งยารักษาโรค การพึ่งพาตัวเองได้สมุนไพร การเร่งรัดงานวิจัย หรือแม้กระทั่งการผลิตวัคซีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนได้ถ่วงอำนาจทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ด้วยการปล่อยกู้และลงทุนอันมหาศาลให้กับหลายประเทศที่ติดหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งยังขยายบทบาทการพึ่งพาทางเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศทั่วโลกมากกว่าสหรัฐอเมริกา และทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐอเมริกาลดลงไปด้วย และยังลงทุนก่อสร้างไปในธุรกิจพลังงาน และเหมืองแร่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินทรัพย์ที่เป็นตัวเปลี่ยนเทคโนโลยีของจีน ที่เหนือกว่าการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แนวโน้มดอลลาร์สหรัฐจะไม่สามารถรักษามูลค่าต่อไปได้ ต่อให้ปั่นกระแสข่าวการทำสงคราม การขึ้นภาษีกีดกันทางการค้า ต่างก็มีข้อจำกัดด้วยแสนยานุภาพของประเทศมหาอำนาจคู่กรณี

ในสถานการณ์เช่นนี้ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

1.ความมั่นคงในทุนสำรองระหว่างประเทศที่จะต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนของสินทรัพย์ให้ทันพลวัตต่อเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

2.ต้องมีการบริหารจัดการรักษา “เสถียรภาพ” ค่าเงินบาทไม่ให้เกิดการ “ผันผวน” ผิดปกติเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเดียวกัน ควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ กับความสามารถในการแข่งขันในเวทีการส่งออกและการนำเข้าระหว่างประเทศ

3.ต้องบริหารจัดการให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานเพื่อการพึ่งพาตัวเอง ในภาวะสงครามทั่วโลก โดยเฉพาะการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ และรถไฟฟ้าทั่วไทยอย่างจริงจัง

4.ต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้พึ่งพาตัวเองได้ ในภาวะสงครามทั่วโลก

5.ต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางยาด้านสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตัวเอง ในภาวะสงครามทั่วโลก

แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลได้ตระหนักหรือมีวิสัยทัศน์กับปัญหาเหล่านี้เลย

คงเหลือแต่ประชาชนเท่านั้นที่ได้อ่านบทความนี้ต้องเริ่มแสวงหาแนวทางการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น ทั้งการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน อาหาร และสมุนไพร หรือปรัชญาพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
10 ตุลาคม 2567
0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 38 มุมมอง 0 รีวิว