#นิยายไทย
#คู่กรรม2
#ทมยันตี
#หนังสือน่าอ่าน
#thaitimes
#14ตุลา



อ่านจบเดือนครึ่งเกือบสองเดือนแล้วสำหรับคู่กรรม2 ของทมยันตี สองเล่ม 702 หน้า สนพ. ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์ที่อ่านนี้เป็นครั้งที่ 9 ปี 2552 (ยืมจากห้องสมุด) ในอดีตเคยอ่านแค่ตอนเดียวสมัยเรื่องนี้พิมพ์ลงในนิตยสาร โลกวลี ช่วงสมัยอยู่มัธยม

เมื่อดูจากปกในที่ระบุว่ามีการรวมเล่มครั้งแรกปี 2534 เท่ากับว่าเรื่องนี้ปรากฏโฉมสู่สายตานักอ่านมาถึงปัจจุบันรวมเวลา 33 ปีล่วงแล้ว

เคยชมภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย คุณพล ตัณฑเสถียร และคุณศิริลักษณ์ ผ่องโชค เมื่อปี 2539 รู้สึกตอนจบรันทดหดหู่เนื่องจากลูกชายของอังศุมาลินตายเพราะช่วยลูกศิษย์ เลยไม่อยากอ่านหนังสือ แต่เพิ่งจะรู้ข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้เองว่าบทสรุปในหนังสือนั้นต่างไปจากที่ถูกสร้างเป็นหนัง ดังนั้นจึงเกิดแรงใจในการหามาอ่านให้จบสมบูรณ์ หลังจากที่เคยอ่านภาคแรกจบตั้งแต่สามสิบกว่าปีก่อน

พบคำผิดประปรายในการพิมพ์ครั้งที่ 9 บางคำก็ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าสามารถเขียนได้สองแบบ เช่นคำว่า กระแหนะกระแหน ซึ่งเขียนว่า กระแนะกระแหน ก็ได้ ที่ผ่านมาตัวเองคุ้นชินกับการเขียนแบบมี ห นำหน้ามาตลอด พอเห็นว่าในหนังสือใช้เป็นแบบไม่มี ห นำ ยังคิดว่าน่าจะพิมพ์ผิด เมื่อลองค้นจึงค่อยทราบว่าไม่ผิด ซึ่งในเล่มช่วงแรก ก็ไม่มี ห แต่พอช่วงหลังมี ห โผล่มาซะงั้น อดคิดไม่ได้ว่าตกลงจะเลือกใช้แบบไหนก็น่าจะเอาสักทาง ให้เหมือนกันตลอดทั้งเรื่อง

จากนี้ไปจะยาวมากครับ คงมีคนอ่านไม่มาก ถ้าใครอ่านต่อจนจบได้ขอโปรดรับคำขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

ในส่วนเนื้อเรื่องของภาคนี้ ดำเนินต่อจากความตายของโกโบริ คืออังศุมาลินท้องแก่และคลอดลูกชาย ให้ชื่อว่ากลินท์ที่หมายถึงพระอาทิตย์ ชื่อญี่ปุ่น โยอิจิ โยหมายถึงดวงอาทิตย์ อิจิคือลูกคนแรก พ่อของอังศุมาลินยังคงห่วงใยคนรักเก่าและลูกสาวที่บ้านสวน จึงมาบอกข่าวว่าอีกไม่นานญี่ปุ่นคงจะแพ้สงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบมาสู่แม่อร อังศุมาลินและลูกโดยตรง จึงอยากจะช่วยเหลือ แต่แม่อรปฏิเสธ ไม่ใช่แค่คนเป็นพ่อที่ห่วงใย แม้ตาผลตาบัวสองคู่หูคู่หอย ก็หมั่นนำข่าวมาบอกว่าอีกไม่นานพลพรรคจะนัดกันลุกฮือต่อสู้ญี่ปุ่น รวมถึงวนัสที่ได้รับอิสระจากความช่วยเหลือของโกโบริก่อนตาย จึงกลับมาหาอังศุมาลินเพื่อบอกข่าวและถามเธอว่าจะยอมแต่งงานกับเขาไหม เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิด แต่อังศุมาลินปฏิเสธ เธอยินดีที่จะอยู่ดูแลลูกต่อไปในบ้านสวน ไม่ย้ายหนีไปไหนทั้งนั้น แล้วคุณยายแม่ของแม่อร และยายของอังศุมาลิน ก็จากไปเป็นคนแรกของภาคนี้ แต่เป็นการจากอย่างสงบ เตรียมตัวตายอย่างดี ไปถือศีลอยู่วัดไม่ต้องลำบากลูกหลาน

เวลาผ่านไป ในที่สุดญี่ปุ่นแพ้สงครามพ่อของอังศุมาลินมาบอกทุกคนที่บ้านสวนว่าจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ช่วงบั้นปลายชีวิต ทุกคนร่วมอนุโมทนา หลังบวชท่านต่างจากพระอื่นในวัด ไปอยู่กุฏิเล็กโทรมเพียงรูปเดียว ฉันวันละมื้อ และปฏิบัติเคร่งครัดจนชาวบ้านพากันโจษจันไปทั่วคุ้งน้ำ ด้านเด็กชายกลินท์เจริญวัยขึ้น ได้รับความเอาใจใส่จากแม่ และปู่คือตาผลตาบัวที่อุปโลกน์ตนเอง โดยเล่าเรื่องราวต่างๆของแม่และโกโบริให้กับเด็กชายฟัง ก่อนที่ทั้งคู่จะทยอยตายจากไปเช่นกัน จึงเหลือเพียงแม่อร ที่มักไปอยู่วัดบ่อยเหมือนเช่นทวดของกลินท์ นาน ๆ ครั้งกลินท์จึงได้ติดตามยายกับแม่ไปกราบท่าน กาลล่วงเลยจนเด็กชายเติบใหญ่เป็นหนุ่มวัย 27 ปี ดีกรีอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ชื่นชอบในบรรดาเหล่าลูกศิษย์โดยเฉพาะนักศึกษาหญิง

ขณะที่เมืองไทยเข้าสู่ช่วงปีที่ในกรุงเทพกำลังเกิดกระแสตื่นตัวต่อต้านสินค้าและอื่นใดที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งสร้างชาติอย่างรวดเร็วภายหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง โดยเน้นทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้โยอิจิที่มีปมเป็นลูกที่มีเลือดญี่ปุ่นครึ่งหนึ่ง นึกรังเกียจไม่พอใจชาติกำเนิดตนเอง ต่อต้านพ่อที่ตายไปแล้ว และไม่เข้าใจแม่ จึงกลายเป็นคนที่ให้คำแนะนำแก่บรรดาศิษย์หัวรุนแรง ก้าวหน้า ฝักใฝ่ปลดแอกประชาชนจากการเป็นทาสทุนนิยมบริโภคและทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น โดยไม่มีใครรู้ความจริงของพ่ออาจารย์

ทางบ้านสวน แม้โยอิจิจะรักแม่มาก แต่ขณะเดียวกันใจก็ยังไม่ยอมรับพ่อ กลายเป็นเหมือนเด็กน้อยที่เอาแต่ใจ รั้น และดื้อเงียบ แต่เขาเข้ากันได้อย่างดีกับลุงวนัสที่สนิทสนมมาแต่เด็ก เข้าออกบ้านลุงบ่อย ตั้งแต่กำนันพ่อของวนัสยังมีชีวิตอยู่จนตายไปในเวลาต่อมา วนัสทำธุรกิจหลายอย่าง รวมถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเรือนไทยของตนให้เป็นที่ทำงานด้วย วนัสไม่ยอมแต่งงานสักทีตั้งแต่อกหักจากอังศุมาลิน แม้โยอิจิจะรู้ว่าวนัสมีการคบหาทำธุรกิจกับพวกคนญี่ปุ่น เขาไม่เห็นด้วยแต่ก็ยังรักชอบในฐานะลุงเช่นเดิม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเขาเป็นอาจารย์สอนอยู่นั้น เขาคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับผู้นำหลายคนที่เรียกร้องรัฐบาลให้บอยคอตคนญี่ปุ่นรวมถึงธุรกิจ สินค้าทุกชนิด โดยที่ไม่มีใครรู้ความจริงว่าเขามีพ่อเป็นใคร ขณะที่มีอาจารย์สาวคนหนึ่งชื่อ ชิตาภา หน้าตาดี ครอบครัวเป็นชาวจีนมีอันจะกินที่มาตั้งรกรากสร้างตัวจนกลายเป็นมีกิจการค้ารุ่งเรือง มักชอบเข้าหามาชวนเขาสนทนาอยู่บ่อยครั้ง ดูเหมือนเธอจะพึงใจในตัวโยอิจิอยู่บ้าง และน่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้น แต่เขาไม่สนใจ มักคุยด้วยไม่นาน และสร้างขอบเขตส่วนตัวที่กันคนอื่นออกไปอยู่วงนอกเสมอ ไม่ยอมให้ใครเข้าถึงความในใจตนได้

แล้ววันหนึ่งนักศึกษาสาวปีสามรัฐศาสตร์นามว่า ศราวณี ผู้เป็นแกนนำหัวรุนแรงที่ต่อต้านคนญี่ปุ่นและสินค้าญี่ปุ่น รวมถึงต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงนั้น ซึ่งรู้ความจริงเรื่องของพ่อโยอิจิ และมีความคับแค้นจากปมในครอบครัวตนซึ่งแม่ตายตั้งแต่เด็ก ถูกเลี้ยงดูมาจากยายและป้าที่เป็นพี่สาวของแม่ และเข้าใจผิดฝังหัวมาตลอดเกี่ยวกับครอบครัวบ้านสวนของอังศุมาลิน ที่มาแย่งชิงความรักไปจากคุณตาของเธอ เพราะทั้งยายและป้ามักเล่าความหลังโดยบิดความจริงแล้วใส่สีตีไข่ บริภาษแม่อรว่าคือผู้เป็นเมียน้อยที่แย่งความรักไป ทำให้ครอบครัวฝั่งยายลำบาก และโดนแย่งสมบัติไปหมด แม่และป้าจึงโตมาอย่างยากแค้นจนแม่ตายไปและป้าต้องรับเลี้ยงศราวณีต่อมาอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทำให้ป้ามักอารมณ์เสียใส่เธอเสมอตั้งแต่เด็กจนโต เพาะเป็นความเกลียดชังต่อครอบครัวฝั่งบ้านสวน ทั้งที่ตัวเองไม่เคยพบหน้าอีกฝ่าย จนเมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาและพบว่าโยอิจิสอนหนังสืออยู่ที่ธรรมศาสตร์ จึงพุ่งความโกรธเกลียดที่ตนเคยได้รับจากป้ามารวมอยู่ที่อาจารย์ทั้งหมด จนกระทั่งบอกความลับเรื่องพ่อของโยอิจิออกไปให้พวกเพื่อนกลุ่มหัวรุนแรงด้วยกันรับรู้

วันที่พวกเธอและเพื่อนตามตัวให้โยอิจิมาที่ห้องซึ่งเป็นที่รวมพลเพื่อพูดคุยเรื่องจะทำอะไรต่อไป แล้วใครคนหนึ่งได้กล่าวเปิดโปงเรื่องโกโบริ และพูดจาดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติของพ่อ วินาทีนั้นเองโยอิจิกลับเพิ่งเข้าใจหัวใจตนเองเป็นครั้งแรกในชีวิต 27 ปีที่ผ่านมา ว่าแท้จริงเขารักพ่อและเทิดทูนในเกียรติยศของทหารหาญมากแค่ไหน เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาด้วยท่าทีแสดงออกถึงความภูมิใจในสายเลือดแห่งตนด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมพลัง ที่สามารถสยบเสียงโห่ฮาขับไล่ของเหล่านักศึกษาให้สงบลงได้ นั่นคือครั้งแรกเช่นกันที่สร้างความประหลาดใจแกมรู้สึกผิดอยู่เบื้องลึกให้เกิดขึ้นในหัวใจของศราวณี ที่ไม่นึกฝันว่าโยอิจิจะกล้ายอมรับอย่างไม่สะทกสะท้าน

นับตั้งแต่วันนั้น โยอิจิเหมือนได้รับการปลดล็อกออกจากห้องขังที่ตนเองสร้างขึ้นเพื่อหนีความจริงสุดลึกที่เก็บกดไว้ เขาเข้าใจถึงความรักของแม่อันเป็นที่รักที่มีต่อพ่อชาวญี่ปุ่นอย่างท่วมท้นหัวใจแล้ว พ่อไม่เคยทำสิ่งไม่ดี มีแต่ทำตามหน้าที่ของชายชาติทหารที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้ทำไปด้วยความจงเกลียดจงชัง โยอิจิกลับไปที่บ้านสวนในเย็นวันนั้นอย่างคนที่บาดเจ็บสาหัส ไม่ใช่ทางกาย แต่ได้รับความกระทบกระเทือนทางใจอย่างรุนแรง อังศุมาลินรับรู้ได้ด้วยสายตาและหัวใจของคนเป็นแม่ แม้ไม่รู้ว่าลูกชายพบเจอเรื่องใดมาทำได้แค่ยกสองมือขึ้นโอบกอดถ่ายเทความรักความอบอุ่นที่มีให้กับลูกชายด้วยความเข้าใจอย่างสงบ

โยอิจิไม่รู้ความจริงว่าศราวณีคือน้องสาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง เกิดจากน้องสาวต่างมารดาของอังศุมาลิน มีเพียงอาจารย์ชิตาภาที่ทราบ เพราะเธอเป็นญาติที่มีศักดิ์เป็นคุณน้าของศราวณี แต่ยังไม่อาจเล่าให้เขาฟัง โยอิจิยังคงสงสัยและเคลือบแคลงว่าชิตาภาประสงค์สิ่งใดแน่จึงมักหาเหตุมาใกล้ชิดชวนสนทนากับตน

ด้วยความรู้สึกผิดเกาะกินจากภายใน รวมถึงปัญหาต่าง ๆ รุมเร้า แม้ใจจะต่อต้านพี่ชายอย่างอาจารย์กลินท์ แต่เบื้องลึกเธอกลับมีความรู้สึกที่ดี รักเคารพในชายคนนี้อย่างไม่รู้ตัว วันหนึ่งโยอิจิพบเธอนั่งซึมอยู่ที่ท่าเรือ เหมือนรอคอยจะพบเขาและตามลงเรือมาที่บ้านสวนด้วย ศราวณีจึงได้พบกับสรวงสวรรค์บ้านเรือนไทยหลังเดียวในย่านนั้นที่ยังคงสภาพเหมือนเดิมกับช่วงเกิดสงคราม ในขณะที่บ้านหลังอื่นเปลี่ยนแปลงไปสร้างตามอย่างต่างชาติหมด เธอพบบรรยากาศที่ร่มรื่นชื่นเย็น สงบสุขอย่างไม่เคยได้รับยามเมื่อกลับถึงบ้านที่อยู่กับป้า ยิ่งเมื่อได้พบเจออังศุมาลิน ภาพที่เคยคิดไว้กลับตรงข้ามกับสิ่งที่เห็นและได้ยินทุกอย่างต่างจากที่ยายและป้าได้พูดใส่หูเธอมาตลอด เธอรู้สึกได้รับความสุข สงบ สบายใจและผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยเกิด และเริ่มเปลี่ยนความคิดที่มีต่อครอบครัวของโยอิจิ

ทางด้านหลวงพ่อ หลังจากบวชเพื่อปฏิบัติอย่างเอาจริงอยู่จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย ที่สุดก็มรณภาพอย่างสงบในท่านั่งสมาธิอยู่ในกุฏิ ทำให้ชาวบ้านโจษจันต่างศรัทธานับถือ จนเจ้าอาวาสและทางกรรมการวัดเห็นเป็นโอกาสในการสร้างเรื่องเรียกคนเข้ามาทำบุญเพิ่ม ด้วยการยกให้หลวงพ่อเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทันที ทั้งที่ตอนมีชีวิต ไม่ใคร่สนใจ

ที่บ้านสวนส่วนใหญ่อังศุมาลินอยู่บ้านคนเดียว ทำงานบ้านดูแลอาหารการกินเตรียมไว้ให้ลูกชาย ทว่าเริ่มมีอาการป่วยที่ค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นจนต้องแอบไปที่ศิริราช โดยมีเจ้าโก๊ะเด็กชายตัวน้อย ลูกของคนจรจัดหญิงชายที่มาขออาศัยอยู่ในสวนด้านหลังบ้านตามไปเป็นเพื่อน พ่อแม่ของโก๊ะนั้นเป็นประเภทไม่ชอบทำมาหากิน ขี้เหล้าเมายา เล่นพนันไปตามเรื่อง อังศุมาลินเคยหวังดีเอ่ยปากแนะนำให้ตั้งตัวขยันทำกินหลายครั้ง แต่ทั้งสองไม่สนใจ เอาแต่เก็บผักผลไม้จากในสวนของแม่อรและอังศุมาลิน มากินและขายด้วยถือวิสาสะว่าเหมือนของตน และมักใช้ให้โก๊ะมาขอเงินจากอังศุมาลินบ่อย ๆ

ส่วนเหตุการณ์ทางด้านการบ้านการเมืองกลับทวีความรุนแรง คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ บรรดานักศึกษาต่างรวมตัวกันในสถาบันหลายแห่ง รวมถึงขึ้นเวทีพูดปลุกระดมให้ชาวบ้านฟังและเข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายตนมากขึ้น ขณะที่ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่ร่างขึ้น เหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ. 2516 เริ่มขมวดปมความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผู้บริหารกับฝ่ายนักศึกษา ผ่านสายตาของโยอิจิและชิตาภาที่คอยเฝ้ามองอย่างห่าง ๆ ด้วยความเป็นห่วงในตัวศิษย์ แม้เคยกล่าวเตือนในหลายครั้งให้ศราวณีระมัดระวัง อย่าทำอะไรที่ผลีผลาม หุนหันพลันแล่น แต่อย่างไรเด็กก็คือเด็ก เมื่อเขามีความเชื่อฝังหัวไปทางด้านหนึ่ง ก็ขาดความใคร่ครวญพิจารณาอย่างรอบถ้วน และมองไม่เห็นถึงภัยร้ายที่จะบังเกิดขึ้นในเมื่อทุกสิ่งถูกปลุกเร้าเข้าสู่ห้วงวิกฤต

สุดท้ายถึงวันแตกหักอันเป็นเหตุการณ์วิปโยคของคนไทยทุกคน จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับโยอิจิ ชิตาภา และศราวณี ในขณะที่อังศุมาลินนั้นก็มีอาการเจ็บป่วยที่มักเหนื่อยง่าย หน้าซีดจะเป็นลมบ่อย แต่ปิดไว้ไม่ให้ลูกชายรู้ ดูเหมือนเวลาชีวิตของเธอจะเหลืออีกไม่มากก่อนจะได้ตามไปอยู่กับโกโบริ สรุปสุดท้ายของนิยายจะลงเอยอย่างไรไปอ่านต่อได้ในคู่กรรม 2 ครับ

🖋วิเคราะห์หลังอ่านจบ

มีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ ภาคนี้ต่างไปจากภาคแรกอย่างชนิดเหมือนเป็นนิยายคนละเรื่อง คนละแนวทาง คือภาคแรกมีความเป็นนิยายรักระหว่างรบ ที่มีทั้งปมความรัก ความขัดแย้งในตัวตนกับคนที่คิดว่าคือศัตรูเป็นแกนหลัก เน้นไปทางอารมณ์ความรู้สึกของอังศุมาลินและโกโบริ โดยมีเหตุการณ์น้อยใหญ่ที่เข้ามาสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งสองเพิ่มขึ้นทีละน้อยจนถึงขั้นรัก แต่ไม่อาจเปิดใจเพราะติดที่กรอบซึ่งถูกสร้างขึ้นจากทั้งอังศุมาลินเอง และสังคมสร้างให้กลายเป็นขื่อคาที่ตรึงรั้งใจไว้ให้มิอาจแสดงออกถึงความรักได้ดังเช่นคู่สามีภรรยาปกติ จนนำไปสู่บทสรุปอันเจ็บปวดและขมขื่นในตอนท้ายเรื่องที่สร้างความจดจำและสะเทือนใจให้กับคนอ่านอย่างยิ่ง กลายเป็นอมตะนิยายรักแห่งโศกนาฏกรรมที่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

มาในภาคนี้ เนื้อหาโครงสร้างหลักกลับเน้นไปที่ความมองโลกของคนเป็นแม่อย่างคนที่ผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตมาแล้ว และจะเลือกเดินหน้าต่อไปอย่างไรในสถานการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่เกลียดชังญี่ปุ่น ในขณะที่เธอคือภรรยาหม้ายและมีลูกชายสายเลือดที่เกิดจากทหารญี่ปุ่น ตลอดทั้งเล่มนี้ในความรู้สึกส่วนตัว ผมมองว่านี่คือนิยายธรรมะเล่มหนึ่งทีเดียว เพียงแต่ไม่ใช่ธรรมะที่เป็นคำบรรยายเทศน์ของพระผู้เป็นองค์ธรรมกถึก หากแต่เป็นหนังสือธรรมะที่นำพล็อตของนิยายมาสวม จึงพบได้ในหลายย่อหน้า แทบทุกตอนที่ผู้เขียนสอดแทรกแนวคิดหลักธรรมทางพุทธตามแนวที่ท่านเชื่อเป็นทางที่ถูกตรงลอยอบอวลอยู่ในการบรรยาย เหมือนตัวละครและฉากเหล่านั้นคือตัวแทนหรือเครื่องมือที่ต้องการสื่อสอนธรรมะไปสู่ผู้อ่านอยู่ตลอด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องราวของความตาย ดังจะเห็นได้จากมีการจากไปของตัวละครเดิมที่มีบทบาทจากภาคแรก คนแล้วคนเล่า เริ่มตั้งแต่คุณยาย ตาผลตาบัว หลวงพ่อ และกำลังใกล้ตายอย่างอังศุมาลิน ทำนองแสดงสัจธรรมชีวิต

หลายช่วงตอนที่มีการหยิบยกบทกลอนร้อยกรองจากในวรรณคดีไทย หรือที่ผู้เขียนแต่งขึ้น รวมถึงวลี ประโยคภาษาอังกฤษจากบทเพลง บทกวีต่าง ๆ ของทางตะวันตกมาใช้เพื่อสื่อแสดงถึงความรู้สึกของผู้เขียนที่ต้องการสะท้อนผ่านเรื่องราวของเหตุการณ์แวดล้อมรอบตัวโยอิจิ และตัวละครสำคัญ จนบางทีก็ดูมากไป อ่านไปเรื่อย ๆ อดที่จะคิดไม่ได้ว่าเล่มนี้ มีความคล้ายกันกับอีกเล่มของทมยันตีที่มีชื่อว่า จดหมายถึงลูก(ผู้)ชาย ที่เน้นสอนลูกของผู้เขียนเองและคนเป็นลูกชายทุกคน ด้วยการแทรกแนวคิดคำสุภาษิตไว้ในเนื้อหาตลอดเล่ม

แล้วการเขียนลักษณะนี้ดีหรือไม่อย่างไร?

คงขึ้นกับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้อ่านที่มีรสนิยมแตกต่าง ส่วนผมเองนั้นไม่ถึงกับเรียกได้ว่าชอบทว่าก็ไม่ขัดใจมากมาย แต่ยอมรับว่าทมยันตีเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีความไม่ธรรมดาในด้านศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งหาตัวจับยาก แล้วนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนได้เก่งมากคนหนึ่งในเหล่านักเขียนรุ่นเก่า หากจะติบ้างก็คงเป็นความเข้าใจในทางหลักธรรมที่นำมาสอดแทรกไว้ในคู่กรรม2 นั้น ยังเป็นความเข้าใจที่เหมือนเช่นคนปฏิบัติธรรมทั่วไปในไทยเข้าใจกันว่าถูกต้อง คือเน้นการนั่งสมาธิเดินจงกรมว่าคือวิธีที่จะนำไปสู่การลดละกิเลสจนนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ดังที่ตัวละครหลวงพ่อในเรื่องได้ปฏิบัติและพูดคุยสอนธรรมกับโยอิจิ หรือแม่อร อังศุมาลิน ซึ่งโดยแท้จริงการปฏิบัติควรเน้นไปที่การมีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกที่จะจับอาการกิเลสแล้วกำจัดทิ้ง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน หรืออิริยาบถย่อยอื่น ไม่ใช่เพียงแค่ตอนนั่งสมาธิเดินจงกรมเพียงเท่านั้น เพราะในชีวิตจริงมนุษย์ไม่อาจจะบังคับตนให้อยู่เพียงแค่ท่านั่งสมาธิต่อเนื่องยาวนานไปจนชั่วชีวิต

นอกจากประเด็นที่กล่าวถึงนี้แล้วที่มีความเห็นไม่ตรงกับผู้เขียน ทางด้านอื่นถือว่าผมชอบนิยายเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะการมองโลกที่มองทะลุถึงความเป็นจริงของสังคมไทย ลักษณะนิสัย ที่เจาะลึกให้เห็นว่าแม้นในอดีตสมัยสงครามคนไทยเป็นอย่างไร ปัจจุบันในยุคนี้ก็ยังคงพบเห็นได้ว่าไม่แตกต่างกันนัก จึงถือว่านิยายเล่มนี้ไม่ล้าสมัย โดยเฉพาะด้านการบ้านการเมืองที่ผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐ มักเลือกใช้วิถีทางแห่งความรุนแรงในการสยบปัญหาอยู่เสมอ โดยมีมือที่สามที่คอยฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ยั่วยุ ปลุกปั่น และล่อลวงให้คู่กรณีระหว่างรัฐกับนักศึกษาและประชาชนปะทะแตกหัก จนเกิดความสูญเสีย อันมีแต่หายนะต่อประเทศชาติ

ศราวณี คือตัวแทนที่เปรียบให้เห็นเด่นชัด ไม่ว่ายุคใด เหล่าเด็กหนุ่มสาวอนาคตชาติ มักถูกกระตุ้น ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และปลุกเร้าจุดไฟติดได้โดยง่าย ด้วยพวกเขามีพลังงานล้นเหลือ เมื่อเลือกเชื่อไปทางใดทางหนึ่งแล้ว บางทีก็พุ่งไปข้างหน้าอย่างสุดกำลังโดยไม่ทันได้ใคร่ครวญ ยั้งคิด หรือพิจารณาทัศนียภาพรอบข้างระหว่างทางที่มุ่งไปให้ถี่ถ้วนรอบคอบ จึงมักตกเป็นฝ่ายที่ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือให้ไปตายแทนคนบงการแท้จริงเบื้องหลังเสมอ

และเมื่อเกิดความสูญเสียแล้วก็เป็นเช่นดังอะไหล่เลวที่โดนใช้แล้วทิ้งโดยไร้ความเสียดาย หรือจำเป็นต้องดูแลอย่างใดต่อไป กว่าพวกเขาจะรู้ตัว ความผิดพลาดพลั้งเผลอก็เกิดขึ้นและไปไกลเกินกว่าตนเองจะหยุดยั้ง ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้เสียแล้ว ดังจุดจบของตัวละครในเรื่องนี้หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ความเก่งกล้า ไม่ยอมใคร ไม่ฟังอาจารย์ ความร้อนเร่าเอาแต่ใจ รั้นจะทำในสิ่งที่ตนคิดให้จงได้ ทว่าสุดท้ายกลับกลายพาเพื่อน คนที่ไม่รู้อะไรแต่ก็ตามกันไป ไปพบกับการบาดเจ็บล้มตายต่อหน้าต่อตา ถึงกับกรีดร้องอย่างบ้าคลั่ง หลบหนีตายจ้าละหวั่น กระทบกระเทือนถึงสภาพจิตใจอย่างรุนแรงจนแทบจะกลายเป็นบ้าไป เธอจึงได้รับบาดแผลลึกที่เสียใจก็ไม่ทันแล้ว กับไฟที่ตอนแรกเพียงแค่เหมือนไฟจากปลายก้านไม้ขีดในมือที่ขยับนิดเดียวก็ดับ สุดท้ายมันกลับกลายเป็นไฟกองใหญ่ที่โหมไหม้รวดเร็ว ลามเลียทำลายทุกสิ่งอย่างไม่อาจดับได้ด้วยแค่กำลังตนเอง

นอกจากนี้ที่ชอบก็มีในส่วนของการใช้ภาพตัวละครในเรื่องอย่างครอบครัวของเจ้าโก๊ะ ที่สะท้อนภาพตัวแทนของชนชั้นล่างได้ชัดเจน ความเหลื่อมล้ำที่เหล่านักศึกษามักนำมาเป็นคำขวัญ ชูประเด็นเพื่อเรียกร้อง และรังเกียจเคียดแค้นเหล่าชนชั้นศักดินา ดังเช่นอาจารย์ชิตาภาที่ครอบครัวเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาไทยอย่างเสื่อผืนหมอนใบ แต่ขยันขันแข็งและสร้างตัวจนมีทรัพย์ ร่ำรวยมีอันจะกินและสร้างธุรกิจด้วยการค้าขายขยับขยายฐานะ จนเลื่อนจากชนชั้นแรงงานต่างด้าวมาเป็นพ่อค้าวาณิชย์ที่มีกิจการมากมายและถูกแปะป้ายให้กลายเป็นศักดินาไป จนถูกมองว่าเป็นความผิดความเลวที่เข้ามากอบโกยนั้น หรือแม้แต่วนัสที่เป็นคนไทยแต่มีหัวในทางธุรกิจการค้า จึงติดต่อซื้อขายกับคนต่างชาติอย่างญี่ปุ่นหรือชาวตะวันตกจนมีฐานะเข้าขั้นเศรษฐี ทั้งที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นพวกเสรีไทย แต่ในภาคนี้เรียกได้ว่าแปะป้ายศักดินาตามความหมายของเหล่านักศึกษาได้เช่นกัน

หากมองความจริงในอีกแง่มุม ย่อมเห็นได้ว่าคนไทยเองที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพจำนวนมากนั้นมีสันดานเป็นอย่างพ่อและแม่ของเจ้าโก๊ะ ที่เอาแต่ชื่นชอบอยู่อย่างสบายไม่ต้องทำการทำงาน วันทั้งวันเอาแต่เมาหัวราน้ำ แม้นมีคนหยิบยื่นความช่วยเหลือหวังให้สร้างตัวเพื่อตั้งตนได้ แต่ก็ไม่กระตือรือร้นสนใจ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ อยากแต่จะขอเขากินไปเรื่อย ๆ อาศัยความเมตตาและมีน้ำใจของครอบครัวแม่อรและอังศุมาลินเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างคนขี้เกียจ รักสบายได้ต่อไป มีเงินก็หมดไปกับเหล้ายาและการพนัน เงินหมดก็ใช้ให้โก๊ะไปไถขอเอาใหม่ ด้วยรู้จุดว่าถ้าให้เด็กมาขออย่างไรก็ได้ นี่ไม่อาจยอมรับว่าไม่ว่าจะในนิยายซึ่งอยู่ในยุคหลังสงคราม หรือปัจจุบันที่ล่วงเลยมาอีกหลายสิบปี ก็ยังมีคนไทยที่เป็นเช่นนี้อีกเป็นจำนวนมาก แล้วจะไปโทษว่าแต่ความเหลื่อมล้ำเพราะชนชั้นได้เช่นไร ในเมื่อตนเองยินดีทำตนให้เป็นไปเช่นนั้น

อังศุมาลินและโยอิชิคือตัวแทนของชนชั้นกลางที่น่าสนใจ ทั้งสองมีความรู้ตามทันยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่หลงใหลปล่อยให้กระแสเชี่ยวแห่งคลื่นทุนนิยมเข้าครอบงำ ยังคงดำเนินชีวิตทั้งรูปแบบ และวิถีตามอย่างวัฒนธรรมอันดีงามในอดีตที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ไม่ว่าจะเรือนพักอาศัยที่ไม่รื้อทิ้งหลังเก่าแล้วสร้างใหม่ และพยายามสงวนที่ดินสวนหลังบ้านไว้ปลูกผักปลูกไม้ผลให้พอเก็บกินไม่เดือดร้อน ในขณะครอบครัวอื่นขายที่ให้นายทุน และสร้างบ้านปูนกันไปเกือบหมด

ภาพความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดเจนนี้เองที่เป็นความงดงาม แม้นลำคลองจะไม่เหมือนเดิม คนไทยทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ทำลายต้นกำเนิดรากเหง้าสายธารแห่งชีวิตของตนเอง ทำให้ปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำที่เคยมีลดน้อยจนกระทั่งหายไปไม่เหมือนก่อน เมื่อมาถึงยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้ เราจึงต้องแบกรับผลพวงที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เราไม่ชอบ เราบ่นหรืออาจถึงขั้นก่นด่าคนรุ่นก่อน แต่เราเองก็ละเลยไม่ได้มองกลับเข้ามาในตน ว่าในแต่ละวันได้ทำอะไรที่เป็นไปในทางที่ทำร้าย ทำลายวิถีไทย สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและประเพณีอันดีมากน้อยขนาดไหนอย่างไรบ้าง
#นิยายไทย #คู่กรรม2 #ทมยันตี #หนังสือน่าอ่าน #thaitimes #14ตุลา อ่านจบเดือนครึ่งเกือบสองเดือนแล้วสำหรับคู่กรรม2 ของทมยันตี สองเล่ม 702 หน้า สนพ. ณ บ้านวรรณกรรม พิมพ์ที่อ่านนี้เป็นครั้งที่ 9 ปี 2552 (ยืมจากห้องสมุด) ในอดีตเคยอ่านแค่ตอนเดียวสมัยเรื่องนี้พิมพ์ลงในนิตยสาร โลกวลี ช่วงสมัยอยู่มัธยม เมื่อดูจากปกในที่ระบุว่ามีการรวมเล่มครั้งแรกปี 2534 เท่ากับว่าเรื่องนี้ปรากฏโฉมสู่สายตานักอ่านมาถึงปัจจุบันรวมเวลา 33 ปีล่วงแล้ว เคยชมภาพยนตร์ที่นำแสดงโดย คุณพล ตัณฑเสถียร และคุณศิริลักษณ์ ผ่องโชค เมื่อปี 2539 รู้สึกตอนจบรันทดหดหู่เนื่องจากลูกชายของอังศุมาลินตายเพราะช่วยลูกศิษย์ เลยไม่อยากอ่านหนังสือ แต่เพิ่งจะรู้ข้อมูลเมื่อไม่นานมานี้เองว่าบทสรุปในหนังสือนั้นต่างไปจากที่ถูกสร้างเป็นหนัง ดังนั้นจึงเกิดแรงใจในการหามาอ่านให้จบสมบูรณ์ หลังจากที่เคยอ่านภาคแรกจบตั้งแต่สามสิบกว่าปีก่อน พบคำผิดประปรายในการพิมพ์ครั้งที่ 9 บางคำก็ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าสามารถเขียนได้สองแบบ เช่นคำว่า กระแหนะกระแหน ซึ่งเขียนว่า กระแนะกระแหน ก็ได้ ที่ผ่านมาตัวเองคุ้นชินกับการเขียนแบบมี ห นำหน้ามาตลอด พอเห็นว่าในหนังสือใช้เป็นแบบไม่มี ห นำ ยังคิดว่าน่าจะพิมพ์ผิด เมื่อลองค้นจึงค่อยทราบว่าไม่ผิด ซึ่งในเล่มช่วงแรก ก็ไม่มี ห แต่พอช่วงหลังมี ห โผล่มาซะงั้น อดคิดไม่ได้ว่าตกลงจะเลือกใช้แบบไหนก็น่าจะเอาสักทาง ให้เหมือนกันตลอดทั้งเรื่อง จากนี้ไปจะยาวมากครับ คงมีคนอ่านไม่มาก ถ้าใครอ่านต่อจนจบได้ขอโปรดรับคำขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย ในส่วนเนื้อเรื่องของภาคนี้ ดำเนินต่อจากความตายของโกโบริ คืออังศุมาลินท้องแก่และคลอดลูกชาย ให้ชื่อว่ากลินท์ที่หมายถึงพระอาทิตย์ ชื่อญี่ปุ่น โยอิจิ โยหมายถึงดวงอาทิตย์ อิจิคือลูกคนแรก พ่อของอังศุมาลินยังคงห่วงใยคนรักเก่าและลูกสาวที่บ้านสวน จึงมาบอกข่าวว่าอีกไม่นานญี่ปุ่นคงจะแพ้สงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบมาสู่แม่อร อังศุมาลินและลูกโดยตรง จึงอยากจะช่วยเหลือ แต่แม่อรปฏิเสธ ไม่ใช่แค่คนเป็นพ่อที่ห่วงใย แม้ตาผลตาบัวสองคู่หูคู่หอย ก็หมั่นนำข่าวมาบอกว่าอีกไม่นานพลพรรคจะนัดกันลุกฮือต่อสู้ญี่ปุ่น รวมถึงวนัสที่ได้รับอิสระจากความช่วยเหลือของโกโบริก่อนตาย จึงกลับมาหาอังศุมาลินเพื่อบอกข่าวและถามเธอว่าจะยอมแต่งงานกับเขาไหม เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิด แต่อังศุมาลินปฏิเสธ เธอยินดีที่จะอยู่ดูแลลูกต่อไปในบ้านสวน ไม่ย้ายหนีไปไหนทั้งนั้น แล้วคุณยายแม่ของแม่อร และยายของอังศุมาลิน ก็จากไปเป็นคนแรกของภาคนี้ แต่เป็นการจากอย่างสงบ เตรียมตัวตายอย่างดี ไปถือศีลอยู่วัดไม่ต้องลำบากลูกหลาน เวลาผ่านไป ในที่สุดญี่ปุ่นแพ้สงครามพ่อของอังศุมาลินมาบอกทุกคนที่บ้านสวนว่าจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ช่วงบั้นปลายชีวิต ทุกคนร่วมอนุโมทนา หลังบวชท่านต่างจากพระอื่นในวัด ไปอยู่กุฏิเล็กโทรมเพียงรูปเดียว ฉันวันละมื้อ และปฏิบัติเคร่งครัดจนชาวบ้านพากันโจษจันไปทั่วคุ้งน้ำ ด้านเด็กชายกลินท์เจริญวัยขึ้น ได้รับความเอาใจใส่จากแม่ และปู่คือตาผลตาบัวที่อุปโลกน์ตนเอง โดยเล่าเรื่องราวต่างๆของแม่และโกโบริให้กับเด็กชายฟัง ก่อนที่ทั้งคู่จะทยอยตายจากไปเช่นกัน จึงเหลือเพียงแม่อร ที่มักไปอยู่วัดบ่อยเหมือนเช่นทวดของกลินท์ นาน ๆ ครั้งกลินท์จึงได้ติดตามยายกับแม่ไปกราบท่าน กาลล่วงเลยจนเด็กชายเติบใหญ่เป็นหนุ่มวัย 27 ปี ดีกรีอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ชื่นชอบในบรรดาเหล่าลูกศิษย์โดยเฉพาะนักศึกษาหญิง ขณะที่เมืองไทยเข้าสู่ช่วงปีที่ในกรุงเทพกำลังเกิดกระแสตื่นตัวต่อต้านสินค้าและอื่นใดที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งสร้างชาติอย่างรวดเร็วภายหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง โดยเน้นทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้โยอิจิที่มีปมเป็นลูกที่มีเลือดญี่ปุ่นครึ่งหนึ่ง นึกรังเกียจไม่พอใจชาติกำเนิดตนเอง ต่อต้านพ่อที่ตายไปแล้ว และไม่เข้าใจแม่ จึงกลายเป็นคนที่ให้คำแนะนำแก่บรรดาศิษย์หัวรุนแรง ก้าวหน้า ฝักใฝ่ปลดแอกประชาชนจากการเป็นทาสทุนนิยมบริโภคและทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น โดยไม่มีใครรู้ความจริงของพ่ออาจารย์ ทางบ้านสวน แม้โยอิจิจะรักแม่มาก แต่ขณะเดียวกันใจก็ยังไม่ยอมรับพ่อ กลายเป็นเหมือนเด็กน้อยที่เอาแต่ใจ รั้น และดื้อเงียบ แต่เขาเข้ากันได้อย่างดีกับลุงวนัสที่สนิทสนมมาแต่เด็ก เข้าออกบ้านลุงบ่อย ตั้งแต่กำนันพ่อของวนัสยังมีชีวิตอยู่จนตายไปในเวลาต่อมา วนัสทำธุรกิจหลายอย่าง รวมถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านเรือนไทยของตนให้เป็นที่ทำงานด้วย วนัสไม่ยอมแต่งงานสักทีตั้งแต่อกหักจากอังศุมาลิน แม้โยอิจิจะรู้ว่าวนัสมีการคบหาทำธุรกิจกับพวกคนญี่ปุ่น เขาไม่เห็นด้วยแต่ก็ยังรักชอบในฐานะลุงเช่นเดิม ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเขาเป็นอาจารย์สอนอยู่นั้น เขาคอยเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับผู้นำหลายคนที่เรียกร้องรัฐบาลให้บอยคอตคนญี่ปุ่นรวมถึงธุรกิจ สินค้าทุกชนิด โดยที่ไม่มีใครรู้ความจริงว่าเขามีพ่อเป็นใคร ขณะที่มีอาจารย์สาวคนหนึ่งชื่อ ชิตาภา หน้าตาดี ครอบครัวเป็นชาวจีนมีอันจะกินที่มาตั้งรกรากสร้างตัวจนกลายเป็นมีกิจการค้ารุ่งเรือง มักชอบเข้าหามาชวนเขาสนทนาอยู่บ่อยครั้ง ดูเหมือนเธอจะพึงใจในตัวโยอิจิอยู่บ้าง และน่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้น แต่เขาไม่สนใจ มักคุยด้วยไม่นาน และสร้างขอบเขตส่วนตัวที่กันคนอื่นออกไปอยู่วงนอกเสมอ ไม่ยอมให้ใครเข้าถึงความในใจตนได้ แล้ววันหนึ่งนักศึกษาสาวปีสามรัฐศาสตร์นามว่า ศราวณี ผู้เป็นแกนนำหัวรุนแรงที่ต่อต้านคนญี่ปุ่นและสินค้าญี่ปุ่น รวมถึงต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงนั้น ซึ่งรู้ความจริงเรื่องของพ่อโยอิจิ และมีความคับแค้นจากปมในครอบครัวตนซึ่งแม่ตายตั้งแต่เด็ก ถูกเลี้ยงดูมาจากยายและป้าที่เป็นพี่สาวของแม่ และเข้าใจผิดฝังหัวมาตลอดเกี่ยวกับครอบครัวบ้านสวนของอังศุมาลิน ที่มาแย่งชิงความรักไปจากคุณตาของเธอ เพราะทั้งยายและป้ามักเล่าความหลังโดยบิดความจริงแล้วใส่สีตีไข่ บริภาษแม่อรว่าคือผู้เป็นเมียน้อยที่แย่งความรักไป ทำให้ครอบครัวฝั่งยายลำบาก และโดนแย่งสมบัติไปหมด แม่และป้าจึงโตมาอย่างยากแค้นจนแม่ตายไปและป้าต้องรับเลี้ยงศราวณีต่อมาอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ทำให้ป้ามักอารมณ์เสียใส่เธอเสมอตั้งแต่เด็กจนโต เพาะเป็นความเกลียดชังต่อครอบครัวฝั่งบ้านสวน ทั้งที่ตัวเองไม่เคยพบหน้าอีกฝ่าย จนเมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาและพบว่าโยอิจิสอนหนังสืออยู่ที่ธรรมศาสตร์ จึงพุ่งความโกรธเกลียดที่ตนเคยได้รับจากป้ามารวมอยู่ที่อาจารย์ทั้งหมด จนกระทั่งบอกความลับเรื่องพ่อของโยอิจิออกไปให้พวกเพื่อนกลุ่มหัวรุนแรงด้วยกันรับรู้ วันที่พวกเธอและเพื่อนตามตัวให้โยอิจิมาที่ห้องซึ่งเป็นที่รวมพลเพื่อพูดคุยเรื่องจะทำอะไรต่อไป แล้วใครคนหนึ่งได้กล่าวเปิดโปงเรื่องโกโบริ และพูดจาดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติของพ่อ วินาทีนั้นเองโยอิจิกลับเพิ่งเข้าใจหัวใจตนเองเป็นครั้งแรกในชีวิต 27 ปีที่ผ่านมา ว่าแท้จริงเขารักพ่อและเทิดทูนในเกียรติยศของทหารหาญมากแค่ไหน เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาด้วยท่าทีแสดงออกถึงความภูมิใจในสายเลือดแห่งตนด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมพลัง ที่สามารถสยบเสียงโห่ฮาขับไล่ของเหล่านักศึกษาให้สงบลงได้ นั่นคือครั้งแรกเช่นกันที่สร้างความประหลาดใจแกมรู้สึกผิดอยู่เบื้องลึกให้เกิดขึ้นในหัวใจของศราวณี ที่ไม่นึกฝันว่าโยอิจิจะกล้ายอมรับอย่างไม่สะทกสะท้าน นับตั้งแต่วันนั้น โยอิจิเหมือนได้รับการปลดล็อกออกจากห้องขังที่ตนเองสร้างขึ้นเพื่อหนีความจริงสุดลึกที่เก็บกดไว้ เขาเข้าใจถึงความรักของแม่อันเป็นที่รักที่มีต่อพ่อชาวญี่ปุ่นอย่างท่วมท้นหัวใจแล้ว พ่อไม่เคยทำสิ่งไม่ดี มีแต่ทำตามหน้าที่ของชายชาติทหารที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้ทำไปด้วยความจงเกลียดจงชัง โยอิจิกลับไปที่บ้านสวนในเย็นวันนั้นอย่างคนที่บาดเจ็บสาหัส ไม่ใช่ทางกาย แต่ได้รับความกระทบกระเทือนทางใจอย่างรุนแรง อังศุมาลินรับรู้ได้ด้วยสายตาและหัวใจของคนเป็นแม่ แม้ไม่รู้ว่าลูกชายพบเจอเรื่องใดมาทำได้แค่ยกสองมือขึ้นโอบกอดถ่ายเทความรักความอบอุ่นที่มีให้กับลูกชายด้วยความเข้าใจอย่างสงบ โยอิจิไม่รู้ความจริงว่าศราวณีคือน้องสาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง เกิดจากน้องสาวต่างมารดาของอังศุมาลิน มีเพียงอาจารย์ชิตาภาที่ทราบ เพราะเธอเป็นญาติที่มีศักดิ์เป็นคุณน้าของศราวณี แต่ยังไม่อาจเล่าให้เขาฟัง โยอิจิยังคงสงสัยและเคลือบแคลงว่าชิตาภาประสงค์สิ่งใดแน่จึงมักหาเหตุมาใกล้ชิดชวนสนทนากับตน ด้วยความรู้สึกผิดเกาะกินจากภายใน รวมถึงปัญหาต่าง ๆ รุมเร้า แม้ใจจะต่อต้านพี่ชายอย่างอาจารย์กลินท์ แต่เบื้องลึกเธอกลับมีความรู้สึกที่ดี รักเคารพในชายคนนี้อย่างไม่รู้ตัว วันหนึ่งโยอิจิพบเธอนั่งซึมอยู่ที่ท่าเรือ เหมือนรอคอยจะพบเขาและตามลงเรือมาที่บ้านสวนด้วย ศราวณีจึงได้พบกับสรวงสวรรค์บ้านเรือนไทยหลังเดียวในย่านนั้นที่ยังคงสภาพเหมือนเดิมกับช่วงเกิดสงคราม ในขณะที่บ้านหลังอื่นเปลี่ยนแปลงไปสร้างตามอย่างต่างชาติหมด เธอพบบรรยากาศที่ร่มรื่นชื่นเย็น สงบสุขอย่างไม่เคยได้รับยามเมื่อกลับถึงบ้านที่อยู่กับป้า ยิ่งเมื่อได้พบเจออังศุมาลิน ภาพที่เคยคิดไว้กลับตรงข้ามกับสิ่งที่เห็นและได้ยินทุกอย่างต่างจากที่ยายและป้าได้พูดใส่หูเธอมาตลอด เธอรู้สึกได้รับความสุข สงบ สบายใจและผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยเกิด และเริ่มเปลี่ยนความคิดที่มีต่อครอบครัวของโยอิจิ ทางด้านหลวงพ่อ หลังจากบวชเพื่อปฏิบัติอย่างเอาจริงอยู่จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย ที่สุดก็มรณภาพอย่างสงบในท่านั่งสมาธิอยู่ในกุฏิ ทำให้ชาวบ้านโจษจันต่างศรัทธานับถือ จนเจ้าอาวาสและทางกรรมการวัดเห็นเป็นโอกาสในการสร้างเรื่องเรียกคนเข้ามาทำบุญเพิ่ม ด้วยการยกให้หลวงพ่อเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาทันที ทั้งที่ตอนมีชีวิต ไม่ใคร่สนใจ ที่บ้านสวนส่วนใหญ่อังศุมาลินอยู่บ้านคนเดียว ทำงานบ้านดูแลอาหารการกินเตรียมไว้ให้ลูกชาย ทว่าเริ่มมีอาการป่วยที่ค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นจนต้องแอบไปที่ศิริราช โดยมีเจ้าโก๊ะเด็กชายตัวน้อย ลูกของคนจรจัดหญิงชายที่มาขออาศัยอยู่ในสวนด้านหลังบ้านตามไปเป็นเพื่อน พ่อแม่ของโก๊ะนั้นเป็นประเภทไม่ชอบทำมาหากิน ขี้เหล้าเมายา เล่นพนันไปตามเรื่อง อังศุมาลินเคยหวังดีเอ่ยปากแนะนำให้ตั้งตัวขยันทำกินหลายครั้ง แต่ทั้งสองไม่สนใจ เอาแต่เก็บผักผลไม้จากในสวนของแม่อรและอังศุมาลิน มากินและขายด้วยถือวิสาสะว่าเหมือนของตน และมักใช้ให้โก๊ะมาขอเงินจากอังศุมาลินบ่อย ๆ ส่วนเหตุการณ์ทางด้านการบ้านการเมืองกลับทวีความรุนแรง คุกรุ่นขึ้นเรื่อย ๆ บรรดานักศึกษาต่างรวมตัวกันในสถาบันหลายแห่ง รวมถึงขึ้นเวทีพูดปลุกระดมให้ชาวบ้านฟังและเข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายตนมากขึ้น ขณะที่ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่ร่างขึ้น เหตุการณ์ช่วงปี พ.ศ. 2516 เริ่มขมวดปมความขัดแย้งระหว่างฝ่ายผู้บริหารกับฝ่ายนักศึกษา ผ่านสายตาของโยอิจิและชิตาภาที่คอยเฝ้ามองอย่างห่าง ๆ ด้วยความเป็นห่วงในตัวศิษย์ แม้เคยกล่าวเตือนในหลายครั้งให้ศราวณีระมัดระวัง อย่าทำอะไรที่ผลีผลาม หุนหันพลันแล่น แต่อย่างไรเด็กก็คือเด็ก เมื่อเขามีความเชื่อฝังหัวไปทางด้านหนึ่ง ก็ขาดความใคร่ครวญพิจารณาอย่างรอบถ้วน และมองไม่เห็นถึงภัยร้ายที่จะบังเกิดขึ้นในเมื่อทุกสิ่งถูกปลุกเร้าเข้าสู่ห้วงวิกฤต สุดท้ายถึงวันแตกหักอันเป็นเหตุการณ์วิปโยคของคนไทยทุกคน จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับโยอิจิ ชิตาภา และศราวณี ในขณะที่อังศุมาลินนั้นก็มีอาการเจ็บป่วยที่มักเหนื่อยง่าย หน้าซีดจะเป็นลมบ่อย แต่ปิดไว้ไม่ให้ลูกชายรู้ ดูเหมือนเวลาชีวิตของเธอจะเหลืออีกไม่มากก่อนจะได้ตามไปอยู่กับโกโบริ สรุปสุดท้ายของนิยายจะลงเอยอย่างไรไปอ่านต่อได้ในคู่กรรม 2 ครับ 🖋วิเคราะห์หลังอ่านจบ มีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ ภาคนี้ต่างไปจากภาคแรกอย่างชนิดเหมือนเป็นนิยายคนละเรื่อง คนละแนวทาง คือภาคแรกมีความเป็นนิยายรักระหว่างรบ ที่มีทั้งปมความรัก ความขัดแย้งในตัวตนกับคนที่คิดว่าคือศัตรูเป็นแกนหลัก เน้นไปทางอารมณ์ความรู้สึกของอังศุมาลินและโกโบริ โดยมีเหตุการณ์น้อยใหญ่ที่เข้ามาสร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันของทั้งสองเพิ่มขึ้นทีละน้อยจนถึงขั้นรัก แต่ไม่อาจเปิดใจเพราะติดที่กรอบซึ่งถูกสร้างขึ้นจากทั้งอังศุมาลินเอง และสังคมสร้างให้กลายเป็นขื่อคาที่ตรึงรั้งใจไว้ให้มิอาจแสดงออกถึงความรักได้ดังเช่นคู่สามีภรรยาปกติ จนนำไปสู่บทสรุปอันเจ็บปวดและขมขื่นในตอนท้ายเรื่องที่สร้างความจดจำและสะเทือนใจให้กับคนอ่านอย่างยิ่ง กลายเป็นอมตะนิยายรักแห่งโศกนาฏกรรมที่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง มาในภาคนี้ เนื้อหาโครงสร้างหลักกลับเน้นไปที่ความมองโลกของคนเป็นแม่อย่างคนที่ผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตมาแล้ว และจะเลือกเดินหน้าต่อไปอย่างไรในสถานการณ์ที่คนไทยส่วนใหญ่เกลียดชังญี่ปุ่น ในขณะที่เธอคือภรรยาหม้ายและมีลูกชายสายเลือดที่เกิดจากทหารญี่ปุ่น ตลอดทั้งเล่มนี้ในความรู้สึกส่วนตัว ผมมองว่านี่คือนิยายธรรมะเล่มหนึ่งทีเดียว เพียงแต่ไม่ใช่ธรรมะที่เป็นคำบรรยายเทศน์ของพระผู้เป็นองค์ธรรมกถึก หากแต่เป็นหนังสือธรรมะที่นำพล็อตของนิยายมาสวม จึงพบได้ในหลายย่อหน้า แทบทุกตอนที่ผู้เขียนสอดแทรกแนวคิดหลักธรรมทางพุทธตามแนวที่ท่านเชื่อเป็นทางที่ถูกตรงลอยอบอวลอยู่ในการบรรยาย เหมือนตัวละครและฉากเหล่านั้นคือตัวแทนหรือเครื่องมือที่ต้องการสื่อสอนธรรมะไปสู่ผู้อ่านอยู่ตลอด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องราวของความตาย ดังจะเห็นได้จากมีการจากไปของตัวละครเดิมที่มีบทบาทจากภาคแรก คนแล้วคนเล่า เริ่มตั้งแต่คุณยาย ตาผลตาบัว หลวงพ่อ และกำลังใกล้ตายอย่างอังศุมาลิน ทำนองแสดงสัจธรรมชีวิต หลายช่วงตอนที่มีการหยิบยกบทกลอนร้อยกรองจากในวรรณคดีไทย หรือที่ผู้เขียนแต่งขึ้น รวมถึงวลี ประโยคภาษาอังกฤษจากบทเพลง บทกวีต่าง ๆ ของทางตะวันตกมาใช้เพื่อสื่อแสดงถึงความรู้สึกของผู้เขียนที่ต้องการสะท้อนผ่านเรื่องราวของเหตุการณ์แวดล้อมรอบตัวโยอิจิ และตัวละครสำคัญ จนบางทีก็ดูมากไป อ่านไปเรื่อย ๆ อดที่จะคิดไม่ได้ว่าเล่มนี้ มีความคล้ายกันกับอีกเล่มของทมยันตีที่มีชื่อว่า จดหมายถึงลูก(ผู้)ชาย ที่เน้นสอนลูกของผู้เขียนเองและคนเป็นลูกชายทุกคน ด้วยการแทรกแนวคิดคำสุภาษิตไว้ในเนื้อหาตลอดเล่ม แล้วการเขียนลักษณะนี้ดีหรือไม่อย่างไร? คงขึ้นกับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้อ่านที่มีรสนิยมแตกต่าง ส่วนผมเองนั้นไม่ถึงกับเรียกได้ว่าชอบทว่าก็ไม่ขัดใจมากมาย แต่ยอมรับว่าทมยันตีเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีความไม่ธรรมดาในด้านศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งหาตัวจับยาก แล้วนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนได้เก่งมากคนหนึ่งในเหล่านักเขียนรุ่นเก่า หากจะติบ้างก็คงเป็นความเข้าใจในทางหลักธรรมที่นำมาสอดแทรกไว้ในคู่กรรม2 นั้น ยังเป็นความเข้าใจที่เหมือนเช่นคนปฏิบัติธรรมทั่วไปในไทยเข้าใจกันว่าถูกต้อง คือเน้นการนั่งสมาธิเดินจงกรมว่าคือวิธีที่จะนำไปสู่การลดละกิเลสจนนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ดังที่ตัวละครหลวงพ่อในเรื่องได้ปฏิบัติและพูดคุยสอนธรรมกับโยอิจิ หรือแม่อร อังศุมาลิน ซึ่งโดยแท้จริงการปฏิบัติควรเน้นไปที่การมีสติอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกที่จะจับอาการกิเลสแล้วกำจัดทิ้ง ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน หรืออิริยาบถย่อยอื่น ไม่ใช่เพียงแค่ตอนนั่งสมาธิเดินจงกรมเพียงเท่านั้น เพราะในชีวิตจริงมนุษย์ไม่อาจจะบังคับตนให้อยู่เพียงแค่ท่านั่งสมาธิต่อเนื่องยาวนานไปจนชั่วชีวิต นอกจากประเด็นที่กล่าวถึงนี้แล้วที่มีความเห็นไม่ตรงกับผู้เขียน ทางด้านอื่นถือว่าผมชอบนิยายเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะการมองโลกที่มองทะลุถึงความเป็นจริงของสังคมไทย ลักษณะนิสัย ที่เจาะลึกให้เห็นว่าแม้นในอดีตสมัยสงครามคนไทยเป็นอย่างไร ปัจจุบันในยุคนี้ก็ยังคงพบเห็นได้ว่าไม่แตกต่างกันนัก จึงถือว่านิยายเล่มนี้ไม่ล้าสมัย โดยเฉพาะด้านการบ้านการเมืองที่ผู้มีอำนาจในฝ่ายรัฐ มักเลือกใช้วิถีทางแห่งความรุนแรงในการสยบปัญหาอยู่เสมอ โดยมีมือที่สามที่คอยฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ยั่วยุ ปลุกปั่น และล่อลวงให้คู่กรณีระหว่างรัฐกับนักศึกษาและประชาชนปะทะแตกหัก จนเกิดความสูญเสีย อันมีแต่หายนะต่อประเทศชาติ ศราวณี คือตัวแทนที่เปรียบให้เห็นเด่นชัด ไม่ว่ายุคใด เหล่าเด็กหนุ่มสาวอนาคตชาติ มักถูกกระตุ้น ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และปลุกเร้าจุดไฟติดได้โดยง่าย ด้วยพวกเขามีพลังงานล้นเหลือ เมื่อเลือกเชื่อไปทางใดทางหนึ่งแล้ว บางทีก็พุ่งไปข้างหน้าอย่างสุดกำลังโดยไม่ทันได้ใคร่ครวญ ยั้งคิด หรือพิจารณาทัศนียภาพรอบข้างระหว่างทางที่มุ่งไปให้ถี่ถ้วนรอบคอบ จึงมักตกเป็นฝ่ายที่ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือให้ไปตายแทนคนบงการแท้จริงเบื้องหลังเสมอ และเมื่อเกิดความสูญเสียแล้วก็เป็นเช่นดังอะไหล่เลวที่โดนใช้แล้วทิ้งโดยไร้ความเสียดาย หรือจำเป็นต้องดูแลอย่างใดต่อไป กว่าพวกเขาจะรู้ตัว ความผิดพลาดพลั้งเผลอก็เกิดขึ้นและไปไกลเกินกว่าตนเองจะหยุดยั้ง ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้เสียแล้ว ดังจุดจบของตัวละครในเรื่องนี้หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ความเก่งกล้า ไม่ยอมใคร ไม่ฟังอาจารย์ ความร้อนเร่าเอาแต่ใจ รั้นจะทำในสิ่งที่ตนคิดให้จงได้ ทว่าสุดท้ายกลับกลายพาเพื่อน คนที่ไม่รู้อะไรแต่ก็ตามกันไป ไปพบกับการบาดเจ็บล้มตายต่อหน้าต่อตา ถึงกับกรีดร้องอย่างบ้าคลั่ง หลบหนีตายจ้าละหวั่น กระทบกระเทือนถึงสภาพจิตใจอย่างรุนแรงจนแทบจะกลายเป็นบ้าไป เธอจึงได้รับบาดแผลลึกที่เสียใจก็ไม่ทันแล้ว กับไฟที่ตอนแรกเพียงแค่เหมือนไฟจากปลายก้านไม้ขีดในมือที่ขยับนิดเดียวก็ดับ สุดท้ายมันกลับกลายเป็นไฟกองใหญ่ที่โหมไหม้รวดเร็ว ลามเลียทำลายทุกสิ่งอย่างไม่อาจดับได้ด้วยแค่กำลังตนเอง นอกจากนี้ที่ชอบก็มีในส่วนของการใช้ภาพตัวละครในเรื่องอย่างครอบครัวของเจ้าโก๊ะ ที่สะท้อนภาพตัวแทนของชนชั้นล่างได้ชัดเจน ความเหลื่อมล้ำที่เหล่านักศึกษามักนำมาเป็นคำขวัญ ชูประเด็นเพื่อเรียกร้อง และรังเกียจเคียดแค้นเหล่าชนชั้นศักดินา ดังเช่นอาจารย์ชิตาภาที่ครอบครัวเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาไทยอย่างเสื่อผืนหมอนใบ แต่ขยันขันแข็งและสร้างตัวจนมีทรัพย์ ร่ำรวยมีอันจะกินและสร้างธุรกิจด้วยการค้าขายขยับขยายฐานะ จนเลื่อนจากชนชั้นแรงงานต่างด้าวมาเป็นพ่อค้าวาณิชย์ที่มีกิจการมากมายและถูกแปะป้ายให้กลายเป็นศักดินาไป จนถูกมองว่าเป็นความผิดความเลวที่เข้ามากอบโกยนั้น หรือแม้แต่วนัสที่เป็นคนไทยแต่มีหัวในทางธุรกิจการค้า จึงติดต่อซื้อขายกับคนต่างชาติอย่างญี่ปุ่นหรือชาวตะวันตกจนมีฐานะเข้าขั้นเศรษฐี ทั้งที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นพวกเสรีไทย แต่ในภาคนี้เรียกได้ว่าแปะป้ายศักดินาตามความหมายของเหล่านักศึกษาได้เช่นกัน หากมองความจริงในอีกแง่มุม ย่อมเห็นได้ว่าคนไทยเองที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพจำนวนมากนั้นมีสันดานเป็นอย่างพ่อและแม่ของเจ้าโก๊ะ ที่เอาแต่ชื่นชอบอยู่อย่างสบายไม่ต้องทำการทำงาน วันทั้งวันเอาแต่เมาหัวราน้ำ แม้นมีคนหยิบยื่นความช่วยเหลือหวังให้สร้างตัวเพื่อตั้งตนได้ แต่ก็ไม่กระตือรือร้นสนใจ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ อยากแต่จะขอเขากินไปเรื่อย ๆ อาศัยความเมตตาและมีน้ำใจของครอบครัวแม่อรและอังศุมาลินเป็นเครื่องมือ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างคนขี้เกียจ รักสบายได้ต่อไป มีเงินก็หมดไปกับเหล้ายาและการพนัน เงินหมดก็ใช้ให้โก๊ะไปไถขอเอาใหม่ ด้วยรู้จุดว่าถ้าให้เด็กมาขออย่างไรก็ได้ นี่ไม่อาจยอมรับว่าไม่ว่าจะในนิยายซึ่งอยู่ในยุคหลังสงคราม หรือปัจจุบันที่ล่วงเลยมาอีกหลายสิบปี ก็ยังมีคนไทยที่เป็นเช่นนี้อีกเป็นจำนวนมาก แล้วจะไปโทษว่าแต่ความเหลื่อมล้ำเพราะชนชั้นได้เช่นไร ในเมื่อตนเองยินดีทำตนให้เป็นไปเช่นนั้น อังศุมาลินและโยอิชิคือตัวแทนของชนชั้นกลางที่น่าสนใจ ทั้งสองมีความรู้ตามทันยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่หลงใหลปล่อยให้กระแสเชี่ยวแห่งคลื่นทุนนิยมเข้าครอบงำ ยังคงดำเนินชีวิตทั้งรูปแบบ และวิถีตามอย่างวัฒนธรรมอันดีงามในอดีตที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ไม่ว่าจะเรือนพักอาศัยที่ไม่รื้อทิ้งหลังเก่าแล้วสร้างใหม่ และพยายามสงวนที่ดินสวนหลังบ้านไว้ปลูกผักปลูกไม้ผลให้พอเก็บกินไม่เดือดร้อน ในขณะครอบครัวอื่นขายที่ให้นายทุน และสร้างบ้านปูนกันไปเกือบหมด ภาพความขัดแย้งที่เห็นได้ชัดเจนนี้เองที่เป็นความงดงาม แม้นลำคลองจะไม่เหมือนเดิม คนไทยทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงน้ำ ทำลายต้นกำเนิดรากเหง้าสายธารแห่งชีวิตของตนเอง ทำให้ปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำที่เคยมีลดน้อยจนกระทั่งหายไปไม่เหมือนก่อน เมื่อมาถึงยุคสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้ เราจึงต้องแบกรับผลพวงที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เราไม่ชอบ เราบ่นหรืออาจถึงขั้นก่นด่าคนรุ่นก่อน แต่เราเองก็ละเลยไม่ได้มองกลับเข้ามาในตน ว่าในแต่ละวันได้ทำอะไรที่เป็นไปในทางที่ทำร้าย ทำลายวิถีไทย สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและประเพณีอันดีมากน้อยขนาดไหนอย่างไรบ้าง
Like
1
0 ความคิดเห็น 0 การแบ่งปัน 446 มุมมอง 0 รีวิว